อ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์
ในปัจจุบันคู่สมรสมักมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร และตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการโฆษณาโปรแกรมการตรวจคู่สมรสก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นคู่สมรสอาจสับสนระหว่างการตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและเตรียมก่อนมีบุตรว่า เหมือนกันหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจทั้งสองภาวะหรือไม่ ความพร้อมในการมีบุตรของแต่ละคู่สมรสอาจไม่เหมือนกัน บางคู่พร้อมที่จะมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน แต่บางคู่ขอสร้างรากฐานของครอบครัวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยปล่อยมีบุตร เมื่อมีความตั้งใจที่จะมีบุตรแล้ว ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และความเสี่ยงต่อมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์
การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์
การตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและการตรวจเพื่อเตรียมก่อนตั้งครรภ์นั้นมีหลักการในการตรวจเหมือนกันคือ การตรวจหาโรค หรือภาวะผิดปกติ การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม การให้ภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างแก่ฝ่ายหญิงก่อนการตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจก่อนแต่งงานก็จะมีประโยชน์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไม่ปลอดภัย เมื่อคู่สมรสมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว อาจจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจดังนี้
การซักประวัติ
-ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง การคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ ประวัติประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการตกขาวปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งบ่งบอกถึงอุ้งเชิงกรานหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง โรคประจำตัวอื่น ประวัติการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ การซักประวัตินี้อาจต้องแยกซัก เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้เปิดเผยข้อมูลได้
-ประวัติความผิดปกติหรือความพิการตั้งแต่กำเนิดในครอบครัว รวมทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
-ประวัติการเจ็บป่วยทั่วไป การใช้ยาประจำ การแพ้ยา การผ่าตัดอื่นๆ
การตรวจร่างกาย
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปของทั้งสองฝ่าย เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติแล้วให้การสืบค้นและรักษาต่อไปถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ส่วนการตรวจภายในของฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ทำทุกคน ยกเว้นว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประวัติคลำได้ก้อนในช่องท้อง ประวัติปวดท้องน้อยหรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือ มีประวัติอื่นที่ทำให้แพทย์สงสัยว่า จะมีความปิดปกติในอุ้งเชิงกราน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ( Pap smear ) ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติเสี่ยงอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในในเบื้องต้น
การตรวจเลือด
วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือด คือ การตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หมู่เลือดเป็นเลือดหายากหรือไม่ หรือจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันหรือไม่ และตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มบางโรค ดังนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้
-ตรวจดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือเป็นพาหะหรือเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ โดยเจาะเลือดตรวจ CBC (Complete blood count ),Hb typing (Hemoglobin typing) เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศแถบเอเชีย
-ตรวจหมู่เลือดหลัก ABO และหมู่เลือดย่อย Rh ซึ่งปกติแล้วจะเป็น Rh + (Rh positive) แต่ถ้ามารดาเป็น Rh - (Rh negative ) จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดแม่เลือดลูกไม่เข้ากันได้ เพราะถูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในครรภ์แรกจะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกครรภ์ถดไป ทำให้ทารกเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก แต่สามารถป้องกันได้โดยฉีดยาต้านการไม่เข้ากันของหมู่เลือดดังกล่าว ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนเพื่อวางแผนการักษาได้
-ตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเจาะเลือดตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb or Anti HBs) โรคซิฟิลิส (VDRL) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสเอดส์ (Anti HIV)
-ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella IgG ) ในฝ่ายหญิง
ถ้าตรวจพบว่า มีโรคซิฟิลิส ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และป้องกันการติดเชื้อไปให้คู่นอนโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกายจากโรค
ถ้าตรวจพบว่า เป็นพาหะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันไว้
ถ้าตรวจพบว่า ฝ่ายหญิงยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันก็ควนฉีดวัคซีนเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ข้อควรระวัง คือ ห้ามตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อบ 3 เดือน หลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน
หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7 โทรสาร 02-4129868