วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเสี่ยงของมารดาขณะตั้งครรภ์ 2

ความเสี่ยงของมารดาขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

          มีอุบัติการประมาณร้อยละ 2.6 ของการคลอดมีชีวิต มารดาที่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าผลการตรวจพบว่า มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จริง แพทย์จะทำให้การดูแลรักษาโดยการควบคุมอาหารเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากมักควบคุมได้ผล มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติร่วมด้วย  โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดผลต่อทารกได้แก่ ทารกตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก คลอดติดไหล่ มารดาก็มีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดยากตามมาได้แก่ การตกเลือดหลังคลอดจากแผลฉักขาดของช่องคลอด มดลูกหดรัดตัวไม่ดี รวมทั้งอาจทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้นด้วย เบาหวานที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ ( ร้อยละ 90 ) จะหายหลังจากคลอดแล้ว



ภาวะครรภ์เป็นพิษ

          ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรมภาวะหนึ่ง มารดามีอาการบวมมากผิดปกติ มีความดันโลหิดสูง และตรวจพบไข่ขาว (albumin)ในปัสสาวะ มีความเสี่ยงที่จะทำให้มารดาเกิดการชัก หัวใจวายหรือเลือดออกในสมองได้ อาการและอาการแสดงของภาวะนี้ คือ บวมมาก น้ำหนักขึ้นมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดจุกใต้ลิ้นปี่ เมื่อตรวจพบภาวะนี้แพทย์จะรีบให้การดูแลรักษาโดยให้ยาป้องกันชัก ยาลดความดัน เจาะเลือดตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น เกร็ดเลือดต่ำ การทำงานของตับบกพร่อง การทำงานของไตผิดปกติ และพิจารณากระตุ้นคลอด หรือผ่าตัดคลอด เมื่อสามารถคงบคุมความดันโลหิตได้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกถ้าปล่อยให้โรคดำเนินต่อไป ภาวะนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการตายของมารดา

ความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์

          ทารกมีความเสี่ยงพิการธรรมชาติประมาณร้อยละ 3 เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ มีติ่งที่ใบหู และโรคหัวใจ เป็นต้น มารดาที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกพิการแต่กำเนิดมากขึ้นได้แก่ มารดาที่มีอายุมากกว่าโดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีประวัติโรคพิการแต่กำเนิดในครอบครัว ได้รับยาหรือสารที่มีผลต่ะทารกตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุดังนั้นในการฝากครรภ์ แพทย์จะมีการตรวจประเมินความเสี่ยงดังกล่าว แนะนำการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดในรายที่มีความเสี่ยง โดยการเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่สอง แล้วนำค่าที่ได้มาประเมินร่วมกับอายุมารดาและอายุครรภ์ ค่าที่ได้ออกมาจะเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่ทารกจะมีความพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น Down syndrome,Neural tube defect ( หลอดระบบประสาทไม่ปิด ) และ Trisomy 18 การเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ การตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อดูความพิการตั้งแต่กำเนิดของทารก ความพิการบางชนิดหรือบางกลุ่มอาการอาจไม่ร้ายแรงและสามารถแก้ไขได้ แพทย์ก็จะพิจารณาลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด แล้วมาแก้ไขความพิการของทารกหลังคลอด แต่ความพิการบางอย่างมีความรุนแรงมากจนทารกไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลังคลอด แพทย์ก็จะยุติการตั้งครรภ์ทันที

          ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรจึงมีความสำคัญต่อคู่สมรส ในการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจหาความผิดปกติของคู่สมรสในการที่จะเกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือโอกาสที่จะเกิดทารกที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิด เพื่อจะได้มีแนวทางการป้องกันความผิดปกติดังกล่าว เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น การฝากครรภ์ก็มีความจำเป็นและมีความสำคัญในการตรวจหาความผิดปกติทั้งมารดาและทารก แล้วรีบให้การรักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์  02-4194736-7




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น