การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนอ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการเกิดหรือการปฏิสนธิ หรือการตั้งครรภ์ สรุปคือ ป้องกันหรือไม่ให้อสุจิในน้ำเชื้อของฝ่ายชายมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงภายในปีกมดลูก และป้องกันไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก

เพศศึกษา

เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่่งที่เกิดขึ้น เมื่อหญิงและชายมีความรักผูกพัน อยากอยู่ใกล้กันและกันและอยากสัมผัสกัน ความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ยกเว้นหญิงและชายนั้นอายุมากจริงๆก็อาจไม่มีความต้องการทางเพศ

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ คือ ช่วงระยะเวลาเริ่มหลังจากการปฏิสนธิ โดยที่ตัวอสุจิ (sperm) ผสม (conceive) กับ ไข่ (egg)ในสภาวะและเวลาที่เหมาะสม จนถึงการคลอด โดยในมนุษย์ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน

สุขภาพ

สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกชีวิตการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ...

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

อ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์

          ในปัจจุบันคู่สมรสมักมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร และตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการโฆษณาโปรแกรมการตรวจคู่สมรสก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นคู่สมรสอาจสับสนระหว่างการตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและเตรียมก่อนมีบุตรว่า เหมือนกันหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจทั้งสองภาวะหรือไม่ ความพร้อมในการมีบุตรของแต่ละคู่สมรสอาจไม่เหมือนกัน บางคู่พร้อมที่จะมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน แต่บางคู่ขอสร้างรากฐานของครอบครัวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยปล่อยมีบุตร  เมื่อมีความตั้งใจที่จะมีบุตรแล้ว ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และความเสี่ยงต่อมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

         การตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและการตรวจเพื่อเตรียมก่อนตั้งครรภ์นั้นมีหลักการในการตรวจเหมือนกันคือ การตรวจหาโรค หรือภาวะผิดปกติ การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม การให้ภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างแก่ฝ่ายหญิงก่อนการตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจก่อนแต่งงานก็จะมีประโยชน์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไม่ปลอดภัย เมื่อคู่สมรสมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว อาจจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจดังนี้

การซักประวัติ

          -ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง การคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ ประวัติประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการตกขาวปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งบ่งบอกถึงอุ้งเชิงกรานหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง โรคประจำตัวอื่น ประวัติการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ การซักประวัตินี้อาจต้องแยกซัก เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้เปิดเผยข้อมูลได้
          -ประวัติความผิดปกติหรือความพิการตั้งแต่กำเนิดในครอบครัว รวมทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
          -ประวัติการเจ็บป่วยทั่วไป การใช้ยาประจำ การแพ้ยา การผ่าตัดอื่นๆ

การตรวจร่างกาย

          แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปของทั้งสองฝ่าย เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติแล้วให้การสืบค้นและรักษาต่อไปถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น  ส่วนการตรวจภายในของฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ทำทุกคน ยกเว้นว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประวัติคลำได้ก้อนในช่องท้อง ประวัติปวดท้องน้อยหรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือ มีประวัติอื่นที่ทำให้แพทย์สงสัยว่า จะมีความปิดปกติในอุ้งเชิงกราน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ( Pap smear ) ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติเสี่ยงอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในในเบื้องต้น

การตรวจเลือด

          วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือด คือ การตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หมู่เลือดเป็นเลือดหายากหรือไม่ หรือจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันหรือไม่ และตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มบางโรค ดังนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

          -ตรวจดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือเป็นพาหะหรือเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ โดยเจาะเลือดตรวจ CBC (Complete blood count ),Hb typing (Hemoglobin typing) เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศแถบเอเชีย

         -ตรวจหมู่เลือดหลัก ABO และหมู่เลือดย่อย Rh ซึ่งปกติแล้วจะเป็น Rh + (Rh positive) แต่ถ้ามารดาเป็น Rh - (Rh negative ) จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดแม่เลือดลูกไม่เข้ากันได้ เพราะถูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในครรภ์แรกจะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกครรภ์ถดไป ทำให้ทารกเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก แต่สามารถป้องกันได้โดยฉีดยาต้านการไม่เข้ากันของหมู่เลือดดังกล่าว ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนเพื่อวางแผนการักษาได้

          -ตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเจาะเลือดตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb or Anti HBs) โรคซิฟิลิส (VDRL) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสเอดส์ (Anti HIV)
       
          -ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella IgG ) ในฝ่ายหญิง
   
     ถ้าตรวจพบว่า มีโรคซิฟิลิส ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และป้องกันการติดเชื้อไปให้คู่นอนโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกายจากโรค
     ถ้าตรวจพบว่า เป็นพาหะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันไว้
     ถ้าตรวจพบว่า ฝ่ายหญิงยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันก็ควนฉีดวัคซีนเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ข้อควรระวัง คือ ห้ามตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อบ 3 เดือน หลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน


หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา  
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7   โทรสาร 02-4129868

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

คำนำหนังสือ การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

คำนำ

การสมรสหรือการอยู่ร่วมกัน เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีความสำคัญมาก ในอดีตคู่สมรสไม่ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการสมรส และภายหลังการตั้งครรภ์ มีอะไรบ้างที่ควรดูแลเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันคู่สมรสได้รับทราบความรู้ต่างๆมากขึ้น แต่ยังไม่ทราบทั้งหมด และไม่เข้าใจรายละเอียดเพียงพอ คู่สมรสจึงมีความต้องการความรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน และการตั้งครรภ์

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนี้ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือเล่มนี้คงเป็นประโยชน์แก่คู่สมรสในการเตรียมตัวในการสร้างครอบครัวที่มีความสุขทั้งกายและใจเป็นอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงมานี ปิยะอนันต์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์ที่ช่วยกรุณาออกแบบปกหน้าปกหลัง และคุณณัฎฐณิชา ช่วงสันเทียะ ที่กรุณาช่วยงานจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
หัวหน้าหน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และะงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-4194736-7

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2


รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การให้คำปรึกษา

1.ผลเลือด

>> กรุ๊ปเลือด   ถ้ากรุ๊ปเลือดฝ่ายหญิงเป็น Rh ลบ ถือว่า ผิกปกติ มารดาอาจถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ถ้าทารกในครรภ์แรกมีกรุ๊ป Rh บวก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในครรภ์ที่ 2 ถ้าทารกในครรภ์มีกรุ๊ป Rh บวก และภูมิต้านทานนี้จะผ่านไปทำลายเม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงจนทำให้ทารกหัวใจวายในครรภ์และเสียชีวิตได้
    การรักษา คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ในครรภ์แรก โดยการฉีดยาป้องกัน 2 ครั้ง คือ ขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน และ ภายหลังคลอดทันที

>> ชนิดของฮีโมโกบิน ถ้าผิดปกติทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องพิจารณาว่า บุตรมีโอกาสเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีโอกาสก็ต้องตรวจทารกในครรภ์ โดยการเจาะเลือดทารกหรือเนื้อรกมาตรวจวินิจฉัย

>>ผลไวรัสตับอักเสบ บี ถ้าพบว่า ฝ่ายใดมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยที่อีกฝ่ายไม่มีภูมิต้านทานก็ต้องฉีดวัคซีนตับอักเสบ บี ทั้งหมด 3 เข็ม ใช้เวลา 6 เดือน  และขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตับอักเสบ บี ทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 6 - 7 เดือน

>>ผลโรคซิฟิลิส ถ้าพบว่า เป็นโรคนี้ ก็ต้องให้การรักษาให้หายก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซิฟิลิสทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 3 เดือน

>>ผลโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ถ้าพบว่า มีเชื้อนี้ ไม่ต้องกลัวเสีบชีวิตเพราะปัจจุบันสามารถรักษาได้ดี และสามารถมีชีวิตได้เป็นปกติ แต่ต้องกินยาตลอดชีวิต และป้องกันไม่ให้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด

>>ผลภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ถ้าไม่มีภูมิต้านทานควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 1 เข็ม และไม่ควรตั้งครรภ์ภายหลังฉีด 3 เดือน


2.การคุมกำเนิด

คู่รักฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ถ้าอยากมีบุตรอาจไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหรือคุมในระยะสั้นๆส่วนคู่รักฝ่ายหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้คู่รักปรับตัวเข้าหากัน ถ้าทั้งคู่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน นอกจากนี้ให้คู่รักได้มีโอกาสใช้ชีวิตคู่ให้คุ้มค่า เพราะถ้าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ชีวิตคู่ก็จะหมดไป
วิธีการคุมกำเนิดที่แนะนำคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมที่มีฮอร์โมนต่ำ โดนเรื่อมยารอบระดูก่อนวันแต่งงาน 1 เดือน ในกรณีที่คู่รักจะมีประจำเดือนช่วงวันแต่ึ้งงานและช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ก็สามารถเลื่อนประจำเดือนได้โดยการให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อโดยไม่ต้องหยุด 7 วัน


3.เพศศึกษา

ในคู่ที่ไม่เคยมีเพศสัมพพันธ์มาก่อน แนะนำให้ซื้อหนังสือเพศศึกษาที่มีขายแพร่หลายมาศึกษา และเน้นให้ฝ่ายชาย ทราบว่า ฝ่ายหญิงควรมีความพร้อมก่อนที่ฝ่ายชายจะมีการร่วมเพศจริง .ซึ่งฝ่ายชายควรเล้าโลมฝ่ายหญิงอย่างน้อย 20-30 นาที นอกจากนี้ควรจะพูดเปิดเผยกันได้ในเรื่องเเพศสัมพันธ์ ส่วนในรายที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วก็สอบถามว่ามีปัญหาหรือไม่


4.การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ 

มีการแนะนำให้กินวิตามินโฟลิค ( folic acid ) ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และอีก 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท ( neural tube defects ) ซึ่งไม่ได้พบบ่อย


5.ปัญหาอื่นๆ

>>หญิงที่อาจมีลูกยาก ได้แก่ หญิงที่มีรอบประจำเดือนไม่ปกติ หรือมีประจำเดือนมาก และหญิงอายุมากกว่า 35 ปี รีบมาปรึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ
>>หญิงที่อาจเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หญิงที่ปวดประจำเดือนมากและราวไปทวารหนัก ถ้ามีปัญหาให้กลับมาปรึกษาใหม่



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7
# ในวัน - เวลาราชการเท่านั้นค่ะ #


วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การวางแผนครอบครัว นั้น มิใช่การวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว แต่มีการให้คำแนะนำในหลายๆด้าน แพทย์ที่ให้การดูแลอาจเป็นสูติ-นรีแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคู่รักที่มาปรึกษาก่อนสมรส บางคู่มีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว และบางคู่แต่งงานมาแล้ว แต่ต้องการตรวจก่อนปล่อยให้มีครรภ์ ซึ่งการดูแลก็ไม่แตกต่างกัน

วัตถุประสงค์
1.ตรวจสุขภาพทั่วไป
2.ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคซิฟิริส โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไวรัสตับอักเสบบี
3.ตรวจหาความเสี่ยงของโรคธาลัสซีเมีย (เลือดจางกรรมพันธุ์) ไปสู่บุตร
4.ป้องกันโรคหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์
5.ให้ความรู้ทางเพศศึกษาและค้นหาปัญหา
6.หาปัจจัยที่อาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์และต่อการตั้งครรภ์
7.แนะนำการปรับตัวในการมีชีวิตคู่

แผนการตรวจสุขภาพก่อนสมรสของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่การตรวจทางเลือดจะคล้ายเคียงกัน

การซักประวัติ
การซักประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น มีประโยชน์มากในการให้คำปรึกษา ยกเว้นคู่รักไม่ยอมเปิดเผยความจริง

การตรวจร่างกาย
ตรวจชีพจร ความดันโลหิต และตรวจร่างกายทั่วไปก็เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภายใน ยกเว้นคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์กันมานานแล้ว และยินยอมให้ตรวจ


การตรวจเลือด
ก่อนการเจาะเลือด ต้องให้คำปรึกษาสำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและต้องให้ลงนามในใบยินยอมที่จะบอกผลเลือดที่ผิดปกติต่อหน้าทั้ง 2 ฝ่าย ที่โรงพยาบาลศิริราชส่งตรวจหา
1.กรุ๊ปเลือด ABO และ Rh
2.ชนิดของฮีโมโกบิน ( Hemoglobin typing ) เพื่อตรวจโรคเลือดธาลัสซีเมีย
3.เชื้อไวรัสตับอักเสบ ( HBsAg ) และภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี ( HBsAb )
4.โรคซิฟิริส ( VDRL )
5.โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( Anti HIV )
6.ภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ( Rubella Ig G )



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7


ติดตามการตรวจสุขภาพก่อนสมรส  2 >>>>