การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนอ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการเกิดหรือการปฏิสนธิ หรือการตั้งครรภ์ สรุปคือ ป้องกันหรือไม่ให้อสุจิในน้ำเชื้อของฝ่ายชายมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงภายในปีกมดลูก และป้องกันไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก

เพศศึกษา

เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่่งที่เกิดขึ้น เมื่อหญิงและชายมีความรักผูกพัน อยากอยู่ใกล้กันและกันและอยากสัมผัสกัน ความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ยกเว้นหญิงและชายนั้นอายุมากจริงๆก็อาจไม่มีความต้องการทางเพศ

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ คือ ช่วงระยะเวลาเริ่มหลังจากการปฏิสนธิ โดยที่ตัวอสุจิ (sperm) ผสม (conceive) กับ ไข่ (egg)ในสภาวะและเวลาที่เหมาะสม จนถึงการคลอด โดยในมนุษย์ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน

สุขภาพ

สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกชีวิตการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ...

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

 อาหารที่มีธาตุเหล็ก

          ธาตุเหล็กสูง  จำเป็นต่อการสร้างเฮโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง เป็นตัวนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อแดง ปลา เป็ด และไก่
ประเภทผัก ได้แก่ ผักโขม ผักกูด ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา ยอดมะกอก และยอดกระถิน
วิธีป้องกันการขาดธาตุเหล็กก็คือ ควรกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

          ธาตุเหล็กจากพืชผักและผลไม้มักละลายยาก ส่วนใหญ่มักติดอยู่กับคาร์โบไฮเดรต และมีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่เข้าไปในกระแสเลือด นอกจากนี้ อาหารบางชนิดที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน ยังไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียมจากผลิตภัณฑ์นม โพลีฟีนอยด์ (ถั่วเปลือกแข็ง) ไฟเตท (ธัญพืชและถั่ว) ฟอสเฟต (น้ำดำ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ชาและกาแฟ)
       
           อาหารที่เป็นศัตรูของธาตุเหล็ก   ชาและกาแฟ ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก

          วิธีที่จะช่วยทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีก็คือ
          วิตามินซี  ช่วยให้ร่างกายดูดซึมโฟเลตและธาตุเหล็กจากพืชผักผลไม้ได้ดี ได้แก่ บรอกโคลี มะนาว ฝรั่ง มะขามป้อม และสตรอเบอร์รี่


บุคคลที่ต้องใส่ใจ

          นักมังสวิรัติ สตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร สตรีมีรอบเดือน ต้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ค่อนข้างยาก หากจำเป็นก็ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายธาตุเหล็กสำเร็จรูป ปกติผู้หญิงในวัย 15-50 ปีควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 15 มิลลิกรัม ส่วนผู้หญิงวัยมากกว่า 50 ปี ควรได้รับวันละ 10 มิลลิกรัม


ส่วนผู้ที่ไม่ขาดธาตุเหล็ก ก็ไม่ควรเติมธาตุเหล็กสำเร็จรูปให้ร่างกายอีก เพราะร่างกายขจัดออกไม่ได้ และเมื่อมีมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายต่อตับ

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

วิตามินสำหรับคนท้อง

7 วิตามินสำคัญสำหรับคนท้อง

เมื่อคุณตั้งครรภ์  เป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างเต็มที่ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพัฒนาการทางสุขภาพของทารกในครรภ์ ดังนั้น คุณจึงต้องรู้ว่าวิตามินเหล่านั้นมีหน้าที่อะไร และให้คุณค่าด้านโภชนาการแก่ส่วนใดของคุณบ้าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญเจ็ดชนิด

1.  โปรตีน : โปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างเซลล์ร่างกายของลูกน้อย ความต้องการโปรตีนมีเพิ่มมากขึ้นในระหว่างสามเดือนที่สองและสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาหารหลายอย่างอุดมไปด้วยโปรตีนรวมทั้ง เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ เนย และเต้าหู้

2.แคลเซียม : แร่ชาติชนิดนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนากระดูของลูกน้อย และร่างกายของคุณจะต้องการแร่ธาติชนิดนี้เพิ่มขึ้นมากในระหว่างการตั้งครรภ์ การขาดแคลเซียมสามารถทำให้เกิดกระดูพรุนและกระดูกของลูกไม่แข็งแรง แคลเซียมมีอยู่มากในผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสด เนย โยเกิร์ต ผักขม เต้าหู้ และบร๊อคโคลี


3. วิตามิน อี : วิตามินชนิดนี้ช่วยในการพัฒนาของกล้ามเนื้อและเซลล์เม็ดเลือดของทารก การขาดวิตามินอีมีผลทำให้ทารกคลอดมาน้ำหนักต่ำ ในขณะที่การได้รับวิตามินนี้มากเกินไปก็เกี่ยวข้องกับการแท้งลูก

เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนที่จะรับประทานวิตามิน อี เสริม วิตามิน อี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิดเช่น น้ำมันพืช ถั่ว และธัญพืช

4. วิตามินบี 1 : วิตามินชนิดนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของระบบประสาทส่วนกลางของลูกน้อย การได้รับวิตามิน บี 1 ไม่เพียงพออาจทำให้ลูกของคุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหน็บชา ซึ่งสามารถเป็นอันตรายต่อหัวใจและปอดของลูกได้ อาหารที่มีวิตามิน บี 1 เช่น อาหารจากข้าวและแป้ง จมูกข้าวสาลี และไข่

5. วิตามิน บี 6 : วิตามินนี้ช่วยในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของลูกน้อย ในบางกรณีมันยังช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ด้วย วิตามิน บี 6 หาได้จากกล้วย แตงโม ถั่วเขียว และหน้าอกไก่

6. เหล็ก : แร่ธาตุชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการทางสุขภาพของลูกน้อย เหล็กยังเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเติบโตของรก เหล้กสามารถพบได้จาก เนื้อสัตว์สีแดง ผัก ข้าว และธัญพืชวิตามิน

7. สังกะสี : แร่ธาตุชนิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ในทารกในครรภ์ เหล็กยังช่วยเสริมการผลิตเอ็นไซม์ เช่น อินซูลิน ในหญิงตั้งครรภ์ เหล็กสามารถพบได้ใน เนื้อสัตว์สีแดง เป็ด ไก่ ถั่ว ข้าว และผลิตภัณฑ์นม

วิตามินและแร่ธาตุ เป็นส่วนสำคัญสำหรับโภชนาการของสตรีมีครรภ์ทุกคน  อย่างไรก็ตาม คำแนะนำด้านวิตามินและแร่ธาตุที่คุณต้องการในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสาตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7 

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเสี่ยงของมารดาขณะตั้งครรภ์ 2

ความเสี่ยงของมารดาขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

          มีอุบัติการประมาณร้อยละ 2.6 ของการคลอดมีชีวิต มารดาที่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าผลการตรวจพบว่า มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จริง แพทย์จะทำให้การดูแลรักษาโดยการควบคุมอาหารเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากมักควบคุมได้ผล มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติร่วมด้วย  โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดผลต่อทารกได้แก่ ทารกตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก คลอดติดไหล่ มารดาก็มีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดยากตามมาได้แก่ การตกเลือดหลังคลอดจากแผลฉักขาดของช่องคลอด มดลูกหดรัดตัวไม่ดี รวมทั้งอาจทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้นด้วย เบาหวานที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ ( ร้อยละ 90 ) จะหายหลังจากคลอดแล้ว



ภาวะครรภ์เป็นพิษ

          ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรมภาวะหนึ่ง มารดามีอาการบวมมากผิดปกติ มีความดันโลหิดสูง และตรวจพบไข่ขาว (albumin)ในปัสสาวะ มีความเสี่ยงที่จะทำให้มารดาเกิดการชัก หัวใจวายหรือเลือดออกในสมองได้ อาการและอาการแสดงของภาวะนี้ คือ บวมมาก น้ำหนักขึ้นมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดจุกใต้ลิ้นปี่ เมื่อตรวจพบภาวะนี้แพทย์จะรีบให้การดูแลรักษาโดยให้ยาป้องกันชัก ยาลดความดัน เจาะเลือดตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น เกร็ดเลือดต่ำ การทำงานของตับบกพร่อง การทำงานของไตผิดปกติ และพิจารณากระตุ้นคลอด หรือผ่าตัดคลอด เมื่อสามารถคงบคุมความดันโลหิตได้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกถ้าปล่อยให้โรคดำเนินต่อไป ภาวะนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการตายของมารดา

ความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์

          ทารกมีความเสี่ยงพิการธรรมชาติประมาณร้อยละ 3 เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ มีติ่งที่ใบหู และโรคหัวใจ เป็นต้น มารดาที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกพิการแต่กำเนิดมากขึ้นได้แก่ มารดาที่มีอายุมากกว่าโดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีประวัติโรคพิการแต่กำเนิดในครอบครัว ได้รับยาหรือสารที่มีผลต่ะทารกตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุดังนั้นในการฝากครรภ์ แพทย์จะมีการตรวจประเมินความเสี่ยงดังกล่าว แนะนำการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดในรายที่มีความเสี่ยง โดยการเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่สอง แล้วนำค่าที่ได้มาประเมินร่วมกับอายุมารดาและอายุครรภ์ ค่าที่ได้ออกมาจะเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่ทารกจะมีความพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น Down syndrome,Neural tube defect ( หลอดระบบประสาทไม่ปิด ) และ Trisomy 18 การเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ การตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อดูความพิการตั้งแต่กำเนิดของทารก ความพิการบางชนิดหรือบางกลุ่มอาการอาจไม่ร้ายแรงและสามารถแก้ไขได้ แพทย์ก็จะพิจารณาลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด แล้วมาแก้ไขความพิการของทารกหลังคลอด แต่ความพิการบางอย่างมีความรุนแรงมากจนทารกไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลังคลอด แพทย์ก็จะยุติการตั้งครรภ์ทันที

          ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรจึงมีความสำคัญต่อคู่สมรส ในการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจหาความผิดปกติของคู่สมรสในการที่จะเกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือโอกาสที่จะเกิดทารกที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิด เพื่อจะได้มีแนวทางการป้องกันความผิดปกติดังกล่าว เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น การฝากครรภ์ก็มีความจำเป็นและมีความสำคัญในการตรวจหาความผิดปกติทั้งมารดาและทารก แล้วรีบให้การรักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์  02-4194736-7




วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเสี่ยงของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

ความเสี่ยงของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

          การตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คู่สมรสรอคอยให้เกิดขึ้น และมีความยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จึงมีความตั้งใจที่จะให้การดูแลประคับประคองจนกระทั่งคลอดบุตรที่แข็งแรงและมารกามีความปลอกภัย แต่ในบางภาวะหรือในหญิงบางคนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ซึ่งมีได้ ตั้งแต่ การแท้งบุตร การคลอดบุตรก่อนกำหนด การตกเลือดก่อนคลอด โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ ดังนั้นการฝากครรภ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อแพทย์จะได้ตรวจหาความผิดปกติ และให้การดูแลรักษาป้องกันได้


การแท้งบุตร

          คือ ภาวะที่มีการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แท้งธรรมชาติเกิดประมาณร้อยละ 10-15 สาเหตุของการแท้งบุตรร้อยละ 70-80 เกิดจากทารกมีความผิดปกติของโคโมโซม จึงเป็นกลไกธรรมชาติที่จะถูกขับออกมา ความเสี่ยงในการแท้งบุตรมีมากขึ้นในมารดาที่มีอายุมาก แต่ถ้ามารดามีประวัติแท้งบุตรติดต่อกันมากกว่า หรือเท่ากับ 3  ครั้งน่าจะมีสาเหตุมารดามีโรคหรือภาวะบางอย่างที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เช่น มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด มีเนื้องอกมดลูกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูกซึ่งจะขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนหรือการเจริญเติบโตของทารก มีโรคประจำตัวทางอายุกรรมที่ควบคุมไม่ได้ดี และโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานตนเองที่ผิดปกติ เป็นต้น
          อาการของการแท้งบุตร คือ  เลือดออกทางช่องคลอด และปวดท้องน้อย ซึ่งควรรีบมาตรวจรักษา แพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อประเมินปริมาณเลือดที่ออก ตรวจปากมดลูกว่า เปิดหรือไม่ แล้วพิจารณาการรักษาต่อไป


การคลอดก่อนกำเนิด

          การคลอดที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เรียกว่า การคลอดก่อนกำหนด  สาเหตุส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นเมื่อทารกมีความผิดปกติ มารดาที่มีโรคประจำตัวต่างๆมารดาอายุน้อยหรือมารดาอายุมาก มีประวัติการคลอดอ่นกำเนิดมาก่อน มีเนื้องอกมดลูก การตั้งครรภ์แฝด มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์เช่น ภาวะเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ การแตกรั่วของถุงน้ำคร่ำก่อนกำหนด และภาวะรกเกาะต่ำ  มารดาจะมีอาการเจ็บครรภ์เนื่องจากมดลูกบีบรัดตัว มีน้ำใสๆออกทางช่องคลอด มีเลือดออกทางช่องคลอดก่อนกำหนด ต้องรีบมาตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาเพื่อพยายามยึดอายุครรภ์ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของทารกที่เกิดก่อนกำหนด


การตกเลือดก่อนคลอด

          การที่มีเลือดออกในช่วงอายุครรภ์ 28-37 สัปดาห์ เรียกว่า การตกเลือดก่อนคลอด สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งมีอุบัติการประมาณ 1  ใน 300 การคลอด ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ เช่น มีประวัติผ่าตัดคลอด มีประวัติการขูดมดลูก มีเนื้องอกมดลูก บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ การวินิจฉัยอาศัยประวัติเลือดออกโดยอาจจะมีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่อาการจะเจ็บไม่มาก การตรวจอัลตร้าซาวด์ พบว่า รกเกาะอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าปกติ การรักษา คือ การักษาประคับประคองให้มีอายุครรภ์ครบกำหนดให้มากที่สุด  โดยให้มารดาพักผ่อนมากๆงดเพศสัมพันธ์ พิจารณาให้ยาคลายการบีบตัวของมดลูก ถ้ามีมดลูกหดรัดตัว เพราะการหดรัดตัวของมดลูกจะยิ่งทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกเป็นระยะๆ ถ้ามีเลือดออกมากไม่หยุด อาจต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7  

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การตั้งครรภ์

 การตั้งครรภ์

         การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ใกล้ภาวะไข่ตกในฝ่ายหญิงมากที่สุด จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด โดยนับจากระยะห่างของรอบเดือน(ปกติจะอยู่ในช่วง 21-35 วัน ) ลบด้วย 14 จะเท่ากับวันที่ไข่ในแต่ละรอบเดือนนั้น หรือใช้วิธีการตรวจหาวันไข่ตกโดยการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตกไข่ ในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ส่วนการตรวจโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายมีความคลาดเคลื่อนได้สูง ถ้าคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็ถือว่า คู่สมรสนั้นมีภาวะผู้มีบุตรยาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การปรึกษาต่อไป
          ในผู้หญิงที่มีปีะจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การขาดประจำเดือนอาจไม่ชัดเจน แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงหน้าอก อาจเป็นอาการที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ในรายที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ถ้ามีการขาดหายไปของประจำเดือน ควรทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย 

การฝากครรภ์

          เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถมาปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย ส่วนจะเลือกโรงพยาบาลใดนั้น ก็ขึ้นกับความสะดวกในการเดินทาง การมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และการประเมินค่าใช้จ่าย แต่ควรจะเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางได้สะดวกใกล้บ้าน จะมีผลดีกว่าถ้ามีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถที่จะได้รับการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว กว่าสถานพยาบาลที่อยู่ไกล ในการฝากครรภ์นั้นแพทย์จะทำการซักประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด การแท้ง ประวัติวันแรกของการมีประจำเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อนำมาคำนวณอายุครรภ์ และคะเนวันครบกำหนดคลอด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจหัวนมและเต้านม ซึ่งพบว่ามีความผิดปกติก็จะทำการแก้ไขหัวนมอย่างต่อเนื่อง ทำการตรวจเลือดซึ่งคล้ายกับที่ตรวจก่อนการตั้งครรภ์ คือ ตรวจหาโรคโลหิตจาง หมู่เลือด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินว่า เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือไม่ 
          
          การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
     -มารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทารกที่มีความผิดปกติทางโคโมโซมได้สูง (ส่วนใหญ่เป็นดาวน์ซิมโดรม คือ มีปัญญาอ่อน )  ซึ่งได้รับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ (ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ) เพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ ส่วนในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดเด็กดาวน์ซิมโครมต่ำกว่า จึงเลี่ยงการเจาะตรวจน้ำคร่ำก่อน (โอกาสแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ =1 ใน200) โดยใช้การเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมแทน โดยใช้ข้อมูล อายุมารดา อายุครรภ์และค่าของสาร หรือระดับฮอร์โมนที่รกสร้าง แล้วนำมาประเมินเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติว่ามากหรือน้อย ถ้าความเสี่ยงมากจึงเจาะน้ำคร่ำต่อไป
     -มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ได้แก่ อายุมากกว่า 30 ปี มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว เคยมีประวัติการคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้ามีประวัติเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ถ้าผลตรวจคัดกรองพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะตรวจละเอียดอีกครั้งว่ามีเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
     -มารดาที่มีประวัติคลอดยากในครรภ์ก่อน ต้องใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดในครรภ์ก่อน
     -มารดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคประจำตัว โรคเลือด ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ เป็นต้น โดยก่อนที่จตะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ สูติแพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่นั้นๆ ในการดูแลมารดาและทารก

          หลังการฝากครรภ์ในครั้งแรกแล้วแพทย์ก็จะนัดฟังผลเลือดในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา  เพื่อบอกผลเลือด ให้คำแนะนำดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ แพทย์จะนัดตรวจต่อทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงอายุครรภ์ 6-16 สัปดาห์ มารดาอาจมีอาการแพ้ท้องได้  แพทย์ก็จะให้ยาแก้แพ้ท้องไปรับประทานร่วมกับยาบำรุง โดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ท้องมักไม่รุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้ท้อง แต่ถ้ามารดามีอาการมากอาเจียนตลอดเวลา รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจต้องมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ท้องมากผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์แฝด  ครรภ์ไข่ปลาอุก ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ถ้าไม่มีความผิดปกติดังกล่าว แพทย์ก็จะนัดตรวจเป็นระยะๆจนอายุครรภ์หลัง 28 สัปดาห์ ก็จะนัดตรวจถี่ขึ้นเป็นทุก 2-3 สัปดาห์ และนัดทุก 1 สัปดาห์ในเดือนสุดท้าย โดยการตรวจแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจทางหน้าท้องเพื่อคลำขนาดมดลูก ท่าของทารก ประเมินการเจริญเติบโตของทารก ฟังเสียงการเต้นหัวใจทารก ตรวจว่า มีการบวมหรือไม่ และตรวจปัสสาวะหาว่ามีน้ำตาลหรือไข่ขาวปนออกมาหรือไม่ ให้ยาบำรุงเลือด และหรือแคลเซียม กลับไปรับประทาน ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถ้ามารดายังไม่เคยได้รับมาก่อน ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินความผิดปกติของทารก แพทย์จะทำการตรวจในช่วงประมาณอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ แต่ถ้ามารดาจำประวัติประจำเดือนได้ไม่แน่นอน ก็ควรได้รับการตรวจอัลต้าซาวด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆเนื่องจากมีความแม่นยำในการประเมินอายุครรภ์และคะเนวันคลอดได้แม่นยำกว่ามาตรวจตอนที่อายุครรภ์มากๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาการเทคนิคการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพชักเจนมากขึ้น คือ อัลตร้าซาวด์ 3 หรือ 4 มิติ ( 3D หรือ 4D) ซึ่งมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องการตรวจความผิดปกติ หรือความพิการของทารกในครรภ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง  


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7 

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

อ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์

          ในปัจจุบันคู่สมรสมักมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร และตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการโฆษณาโปรแกรมการตรวจคู่สมรสก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นคู่สมรสอาจสับสนระหว่างการตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและเตรียมก่อนมีบุตรว่า เหมือนกันหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจทั้งสองภาวะหรือไม่ ความพร้อมในการมีบุตรของแต่ละคู่สมรสอาจไม่เหมือนกัน บางคู่พร้อมที่จะมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน แต่บางคู่ขอสร้างรากฐานของครอบครัวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยปล่อยมีบุตร  เมื่อมีความตั้งใจที่จะมีบุตรแล้ว ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และความเสี่ยงต่อมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

         การตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและการตรวจเพื่อเตรียมก่อนตั้งครรภ์นั้นมีหลักการในการตรวจเหมือนกันคือ การตรวจหาโรค หรือภาวะผิดปกติ การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม การให้ภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างแก่ฝ่ายหญิงก่อนการตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจก่อนแต่งงานก็จะมีประโยชน์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไม่ปลอดภัย เมื่อคู่สมรสมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว อาจจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจดังนี้

การซักประวัติ

          -ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง การคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ ประวัติประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการตกขาวปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งบ่งบอกถึงอุ้งเชิงกรานหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง โรคประจำตัวอื่น ประวัติการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ การซักประวัตินี้อาจต้องแยกซัก เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้เปิดเผยข้อมูลได้
          -ประวัติความผิดปกติหรือความพิการตั้งแต่กำเนิดในครอบครัว รวมทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
          -ประวัติการเจ็บป่วยทั่วไป การใช้ยาประจำ การแพ้ยา การผ่าตัดอื่นๆ

การตรวจร่างกาย

          แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปของทั้งสองฝ่าย เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติแล้วให้การสืบค้นและรักษาต่อไปถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น  ส่วนการตรวจภายในของฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ทำทุกคน ยกเว้นว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประวัติคลำได้ก้อนในช่องท้อง ประวัติปวดท้องน้อยหรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือ มีประวัติอื่นที่ทำให้แพทย์สงสัยว่า จะมีความปิดปกติในอุ้งเชิงกราน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ( Pap smear ) ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติเสี่ยงอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในในเบื้องต้น

การตรวจเลือด

          วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือด คือ การตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หมู่เลือดเป็นเลือดหายากหรือไม่ หรือจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันหรือไม่ และตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มบางโรค ดังนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

          -ตรวจดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือเป็นพาหะหรือเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ โดยเจาะเลือดตรวจ CBC (Complete blood count ),Hb typing (Hemoglobin typing) เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศแถบเอเชีย

         -ตรวจหมู่เลือดหลัก ABO และหมู่เลือดย่อย Rh ซึ่งปกติแล้วจะเป็น Rh + (Rh positive) แต่ถ้ามารดาเป็น Rh - (Rh negative ) จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดแม่เลือดลูกไม่เข้ากันได้ เพราะถูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในครรภ์แรกจะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกครรภ์ถดไป ทำให้ทารกเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก แต่สามารถป้องกันได้โดยฉีดยาต้านการไม่เข้ากันของหมู่เลือดดังกล่าว ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนเพื่อวางแผนการักษาได้

          -ตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเจาะเลือดตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb or Anti HBs) โรคซิฟิลิส (VDRL) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสเอดส์ (Anti HIV)
       
          -ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella IgG ) ในฝ่ายหญิง
   
     ถ้าตรวจพบว่า มีโรคซิฟิลิส ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และป้องกันการติดเชื้อไปให้คู่นอนโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกายจากโรค
     ถ้าตรวจพบว่า เป็นพาหะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันไว้
     ถ้าตรวจพบว่า ฝ่ายหญิงยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันก็ควนฉีดวัคซีนเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ข้อควรระวัง คือ ห้ามตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อบ 3 เดือน หลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน


หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา  
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7   โทรสาร 02-4129868