การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนอ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการเกิดหรือการปฏิสนธิ หรือการตั้งครรภ์ สรุปคือ ป้องกันหรือไม่ให้อสุจิในน้ำเชื้อของฝ่ายชายมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงภายในปีกมดลูก และป้องกันไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก

เพศศึกษา

เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่่งที่เกิดขึ้น เมื่อหญิงและชายมีความรักผูกพัน อยากอยู่ใกล้กันและกันและอยากสัมผัสกัน ความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ยกเว้นหญิงและชายนั้นอายุมากจริงๆก็อาจไม่มีความต้องการทางเพศ

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ คือ ช่วงระยะเวลาเริ่มหลังจากการปฏิสนธิ โดยที่ตัวอสุจิ (sperm) ผสม (conceive) กับ ไข่ (egg)ในสภาวะและเวลาที่เหมาะสม จนถึงการคลอด โดยในมนุษย์ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน

สุขภาพ

สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกชีวิตการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ...

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

การปรับชีวิตคู่

การปรับชีวิตคู่

รศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ

          วงจรชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่เราเกิดจากท้องแม่และจบลง เมื่อเราสิ้นลมหายใจ ชีวิตทุกชีวิตมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะของวัยที่แตกต่างกัน แม้ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตที่ใช้สัตว์เป็นพาหนะ จนปัจจุบันมียานพาหนะที่ทันสมัยและรวดเร็วเป็นโลกของดิจิตอล คอมพิวเตอร์ การวิวัฒนาการทางการแพทย์พยายามคิดค้นวิธีที่ให้เกิดเซลล์มนุษย์ของมาใหม่ เพื่อสู้กับความตายในหลายๆรูปแบบ แต่วงจรชีวิตของมนุษย์ก็ยังคงเหมือนๆเดิม  มีการเกิด เข้าสู่วัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ เพื่อนต่างเพศก็จะเข้ามาในชีวิตและเมื่อแต่งงานจะปรับกลายเป็นชีวิตคู่ หลายท่านมีชีวิตการแต่งงานและครอบครัวที่มีความสุข แต่บางท่านแต่งงานกันไม่นานหรืออาจแต่งงานจนลูกๆโตหมดแล้วก็ได้ จึงพบอุปสรรคมีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความเห็นไม่ตรงกัน จนกลายเป็นการหย่าร้าง หรือถ้าไม่หย่าก็อาจอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุขในครอบครัว

          การปรับตัวกับชีวิตคู่ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการแต่งงาน คือการที่เราคิดว่าเราเลือกคนที่ดีที่สุดให้กับตนเองแล้ว ทุกคนที่แต่งงานคงไม่คิดว่า จะหย่าร้างในอนาคต แต่ในชีวิตคู่มีปัจจัยต่างๆมากมายกระทบ  เช่นปัจจัยครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การงาน การเจ็บป่วย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามวัยของเราและชีวิตของเรา ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่างๆได้ ตลอดวงจรชีวิตของมนุษย์ จะเห็นได้ชัดว่า เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาตามช่วง ตามวัย ตามปัญหาต่างๆที่มากระทบ

          การแต่งงานเปรียบเสมือน " การซื้อล๊อตเตอรี่ " ซึ่งเราไม่สามารถจะทราบได้ว่า ล๊อตเตอรี่ที่เราซื้อจะถูกรางวัลหรือไม่ แม้เราจะเลือกเลขที่สวยที่สุดที่บอกโดยอาจารย์ดังต่างๆก็ตาม ถ้าเราโชคดีคู่ที่เราเลือกก็จะเป็นเหมือนรางวัลที่ 1 หรือรางวัลอื่นๆลดหลั่นลงมา ล๊อตเตอรี่เมื่อไม่ถูกก็หาซื้อเสี่ยงใหม่ได้ แต่การแต่งงานสำหรับบางท่านอาจรู้สึกว่า ไม่สามารถทำได้เช่นนั้น การแต่งงานเป็นเหมือนสิ่งที่มอบให้กับคนที่เรารักคนเดียว การปรับตัวกับชีวิตคู่การเตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่างๆจึงเป็นสิ่งที่คู่หนุ่มสาวทุกท่านควรสนใจศึกษา
     ข้อควรรู้ที่กล่าวในที่นี้ คือ
1.แนวคิดที่แตกต่างระหว่างหญิงและชาย ??
2.คิดให้ดีก่อนตัดสินใจแต่งงาน
3.ชีวิตคู่มีความสุขได้อย่างไร ?? ( ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม )

          แนวคิดที่แตกต่างระหว่างหญิงและชาย????
     หญิงชายมีความแตกต่างกันในหลายๆด้านทั้งทางร่างการ การเลี้ยงดู ทัศนคติ ที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นจากความแตกต่างเมื่อคนสองคนตัดสินใจมาอยู่ด้วยกันการปรับตัวจึงจำเป็นอย่างยิ่ง การปรับแนวคิดที่แตกต่างในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายควรเรียนรู้ความคิดซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้เข้าใจความคิดความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ยึดเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง ปัญหาความขัดแย้งหลายครั้งเกิดจากยึดมั่นในความคิดตนเองและต้องการให้ผู้อื่นเป็นเช่นที่เราต้องการ แต่เมื่อเราต้องการให้คนที่เรารักมีความสุขควรที่จะพยายามเข้าใจและช่วยเหลือเขาให้มีความสุขกับชีวิต
     ผู้ชาย     จะมีแนวคิดที่มุ่งมั่นในการทำงานมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบให้ใครดูถูกหรือว่ากล่าวตักเตือน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของตนเอง
     ผู้หญิง     จะมีแนวคิดที่ต้องการความสุข ความสำเร็จทั้งหน้าที่การงานและครอบครัว เห็นความสำคัญของการมีมิตร การเข้าสังคมสมาคม กับบุคคนอื่น และต้องการความใกล้ชิดมากกว่าผู้ชาย โดยให้ความสำคัญกับความรัก และครอบครัวเท่าๆกัน    
          จากแนวคิดของทั้ง 2 เพศที่แตกต่างกัน  จะเห็นว่ามุมมองของฝ่ายหญิงต้องการความใกล้ชิด การดูแล การเอาใจใส่ แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายชายต้องการมีชีวิตที่ส่วนตัวเป็นตัวของตัวเองมีศักดิ์ศรี ดังนั้นถ้าฝ่ายหญิงต้องการที่จะทำให้ฝ่ายชายรู้สึกมีความสุขที่อยู่ใกล้เรา การให้เกียรติ การให้ความเคารพในเรื่องส่วนตัวของฝ่ายชายก็จะลดความขัดแย้งลง ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายชายถ้าต้องการให้ฝ่ายหญิงมีความสุขการให้ความอบอุ่น ความใกล้ชิด ความผูกพันอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ของเล็กๆน้อยๆก็จะทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งจากฝ่ายชาย ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายจะมีมากขึ้น
          ความเข้าใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การแบ่งเวลาส่วนตัวและเวลาของครอบครัวให้เหมาะสมจะเป็นพื้นฐานของชีวิตคู่ที่มีความสุข 



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเสี่ยงของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

ความเสี่ยงของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

          การตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คู่สมรสรอคอยให้เกิดขึ้น และมีความยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จึงมีความตั้งใจที่จะให้การดูแลประคับประคองจนกระทั่งคลอดบุตรที่แข็งแรงและมารกามีความปลอกภัย แต่ในบางภาวะหรือในหญิงบางคนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ซึ่งมีได้ ตั้งแต่ การแท้งบุตร การคลอดบุตรก่อนกำหนด การตกเลือดก่อนคลอด โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ ดังนั้นการฝากครรภ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อแพทย์จะได้ตรวจหาความผิดปกติ และให้การดูแลรักษาป้องกันได้


การแท้งบุตร

          คือ ภาวะที่มีการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แท้งธรรมชาติเกิดประมาณร้อยละ 10-15 สาเหตุของการแท้งบุตรร้อยละ 70-80 เกิดจากทารกมีความผิดปกติของโคโมโซม จึงเป็นกลไกธรรมชาติที่จะถูกขับออกมา ความเสี่ยงในการแท้งบุตรมีมากขึ้นในมารดาที่มีอายุมาก แต่ถ้ามารดามีประวัติแท้งบุตรติดต่อกันมากกว่า หรือเท่ากับ 3  ครั้งน่าจะมีสาเหตุมารดามีโรคหรือภาวะบางอย่างที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เช่น มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด มีเนื้องอกมดลูกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูกซึ่งจะขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนหรือการเจริญเติบโตของทารก มีโรคประจำตัวทางอายุกรรมที่ควบคุมไม่ได้ดี และโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานตนเองที่ผิดปกติ เป็นต้น
          อาการของการแท้งบุตร คือ  เลือดออกทางช่องคลอด และปวดท้องน้อย ซึ่งควรรีบมาตรวจรักษา แพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อประเมินปริมาณเลือดที่ออก ตรวจปากมดลูกว่า เปิดหรือไม่ แล้วพิจารณาการรักษาต่อไป


การคลอดก่อนกำเนิด

          การคลอดที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เรียกว่า การคลอดก่อนกำหนด  สาเหตุส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นเมื่อทารกมีความผิดปกติ มารดาที่มีโรคประจำตัวต่างๆมารดาอายุน้อยหรือมารดาอายุมาก มีประวัติการคลอดอ่นกำเนิดมาก่อน มีเนื้องอกมดลูก การตั้งครรภ์แฝด มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์เช่น ภาวะเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ การแตกรั่วของถุงน้ำคร่ำก่อนกำหนด และภาวะรกเกาะต่ำ  มารดาจะมีอาการเจ็บครรภ์เนื่องจากมดลูกบีบรัดตัว มีน้ำใสๆออกทางช่องคลอด มีเลือดออกทางช่องคลอดก่อนกำหนด ต้องรีบมาตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาเพื่อพยายามยึดอายุครรภ์ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของทารกที่เกิดก่อนกำหนด


การตกเลือดก่อนคลอด

          การที่มีเลือดออกในช่วงอายุครรภ์ 28-37 สัปดาห์ เรียกว่า การตกเลือดก่อนคลอด สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งมีอุบัติการประมาณ 1  ใน 300 การคลอด ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ เช่น มีประวัติผ่าตัดคลอด มีประวัติการขูดมดลูก มีเนื้องอกมดลูก บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ การวินิจฉัยอาศัยประวัติเลือดออกโดยอาจจะมีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่อาการจะเจ็บไม่มาก การตรวจอัลตร้าซาวด์ พบว่า รกเกาะอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าปกติ การรักษา คือ การักษาประคับประคองให้มีอายุครรภ์ครบกำหนดให้มากที่สุด  โดยให้มารดาพักผ่อนมากๆงดเพศสัมพันธ์ พิจารณาให้ยาคลายการบีบตัวของมดลูก ถ้ามีมดลูกหดรัดตัว เพราะการหดรัดตัวของมดลูกจะยิ่งทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกเป็นระยะๆ ถ้ามีเลือดออกมากไม่หยุด อาจต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7  

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การตั้งครรภ์

 การตั้งครรภ์

         การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ใกล้ภาวะไข่ตกในฝ่ายหญิงมากที่สุด จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด โดยนับจากระยะห่างของรอบเดือน(ปกติจะอยู่ในช่วง 21-35 วัน ) ลบด้วย 14 จะเท่ากับวันที่ไข่ในแต่ละรอบเดือนนั้น หรือใช้วิธีการตรวจหาวันไข่ตกโดยการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตกไข่ ในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ส่วนการตรวจโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายมีความคลาดเคลื่อนได้สูง ถ้าคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็ถือว่า คู่สมรสนั้นมีภาวะผู้มีบุตรยาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การปรึกษาต่อไป
          ในผู้หญิงที่มีปีะจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การขาดประจำเดือนอาจไม่ชัดเจน แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงหน้าอก อาจเป็นอาการที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ในรายที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ถ้ามีการขาดหายไปของประจำเดือน ควรทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย 

การฝากครรภ์

          เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถมาปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย ส่วนจะเลือกโรงพยาบาลใดนั้น ก็ขึ้นกับความสะดวกในการเดินทาง การมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และการประเมินค่าใช้จ่าย แต่ควรจะเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางได้สะดวกใกล้บ้าน จะมีผลดีกว่าถ้ามีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถที่จะได้รับการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว กว่าสถานพยาบาลที่อยู่ไกล ในการฝากครรภ์นั้นแพทย์จะทำการซักประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด การแท้ง ประวัติวันแรกของการมีประจำเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อนำมาคำนวณอายุครรภ์ และคะเนวันครบกำหนดคลอด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจหัวนมและเต้านม ซึ่งพบว่ามีความผิดปกติก็จะทำการแก้ไขหัวนมอย่างต่อเนื่อง ทำการตรวจเลือดซึ่งคล้ายกับที่ตรวจก่อนการตั้งครรภ์ คือ ตรวจหาโรคโลหิตจาง หมู่เลือด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินว่า เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือไม่ 
          
          การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
     -มารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทารกที่มีความผิดปกติทางโคโมโซมได้สูง (ส่วนใหญ่เป็นดาวน์ซิมโดรม คือ มีปัญญาอ่อน )  ซึ่งได้รับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ (ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ) เพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ ส่วนในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดเด็กดาวน์ซิมโครมต่ำกว่า จึงเลี่ยงการเจาะตรวจน้ำคร่ำก่อน (โอกาสแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ =1 ใน200) โดยใช้การเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมแทน โดยใช้ข้อมูล อายุมารดา อายุครรภ์และค่าของสาร หรือระดับฮอร์โมนที่รกสร้าง แล้วนำมาประเมินเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติว่ามากหรือน้อย ถ้าความเสี่ยงมากจึงเจาะน้ำคร่ำต่อไป
     -มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ได้แก่ อายุมากกว่า 30 ปี มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว เคยมีประวัติการคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้ามีประวัติเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ถ้าผลตรวจคัดกรองพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะตรวจละเอียดอีกครั้งว่ามีเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
     -มารดาที่มีประวัติคลอดยากในครรภ์ก่อน ต้องใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดในครรภ์ก่อน
     -มารดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคประจำตัว โรคเลือด ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ เป็นต้น โดยก่อนที่จตะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ สูติแพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่นั้นๆ ในการดูแลมารดาและทารก

          หลังการฝากครรภ์ในครั้งแรกแล้วแพทย์ก็จะนัดฟังผลเลือดในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา  เพื่อบอกผลเลือด ให้คำแนะนำดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ แพทย์จะนัดตรวจต่อทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงอายุครรภ์ 6-16 สัปดาห์ มารดาอาจมีอาการแพ้ท้องได้  แพทย์ก็จะให้ยาแก้แพ้ท้องไปรับประทานร่วมกับยาบำรุง โดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ท้องมักไม่รุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้ท้อง แต่ถ้ามารดามีอาการมากอาเจียนตลอดเวลา รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจต้องมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ท้องมากผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์แฝด  ครรภ์ไข่ปลาอุก ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ถ้าไม่มีความผิดปกติดังกล่าว แพทย์ก็จะนัดตรวจเป็นระยะๆจนอายุครรภ์หลัง 28 สัปดาห์ ก็จะนัดตรวจถี่ขึ้นเป็นทุก 2-3 สัปดาห์ และนัดทุก 1 สัปดาห์ในเดือนสุดท้าย โดยการตรวจแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจทางหน้าท้องเพื่อคลำขนาดมดลูก ท่าของทารก ประเมินการเจริญเติบโตของทารก ฟังเสียงการเต้นหัวใจทารก ตรวจว่า มีการบวมหรือไม่ และตรวจปัสสาวะหาว่ามีน้ำตาลหรือไข่ขาวปนออกมาหรือไม่ ให้ยาบำรุงเลือด และหรือแคลเซียม กลับไปรับประทาน ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถ้ามารดายังไม่เคยได้รับมาก่อน ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินความผิดปกติของทารก แพทย์จะทำการตรวจในช่วงประมาณอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ แต่ถ้ามารดาจำประวัติประจำเดือนได้ไม่แน่นอน ก็ควรได้รับการตรวจอัลต้าซาวด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆเนื่องจากมีความแม่นยำในการประเมินอายุครรภ์และคะเนวันคลอดได้แม่นยำกว่ามาตรวจตอนที่อายุครรภ์มากๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาการเทคนิคการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพชักเจนมากขึ้น คือ อัลตร้าซาวด์ 3 หรือ 4 มิติ ( 3D หรือ 4D) ซึ่งมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องการตรวจความผิดปกติ หรือความพิการของทารกในครรภ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง  


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7 

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

อ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์

          ในปัจจุบันคู่สมรสมักมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร และตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการโฆษณาโปรแกรมการตรวจคู่สมรสก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นคู่สมรสอาจสับสนระหว่างการตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและเตรียมก่อนมีบุตรว่า เหมือนกันหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจทั้งสองภาวะหรือไม่ ความพร้อมในการมีบุตรของแต่ละคู่สมรสอาจไม่เหมือนกัน บางคู่พร้อมที่จะมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน แต่บางคู่ขอสร้างรากฐานของครอบครัวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยปล่อยมีบุตร  เมื่อมีความตั้งใจที่จะมีบุตรแล้ว ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และความเสี่ยงต่อมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

         การตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและการตรวจเพื่อเตรียมก่อนตั้งครรภ์นั้นมีหลักการในการตรวจเหมือนกันคือ การตรวจหาโรค หรือภาวะผิดปกติ การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม การให้ภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างแก่ฝ่ายหญิงก่อนการตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจก่อนแต่งงานก็จะมีประโยชน์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไม่ปลอดภัย เมื่อคู่สมรสมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว อาจจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจดังนี้

การซักประวัติ

          -ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง การคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ ประวัติประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการตกขาวปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งบ่งบอกถึงอุ้งเชิงกรานหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง โรคประจำตัวอื่น ประวัติการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ การซักประวัตินี้อาจต้องแยกซัก เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้เปิดเผยข้อมูลได้
          -ประวัติความผิดปกติหรือความพิการตั้งแต่กำเนิดในครอบครัว รวมทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
          -ประวัติการเจ็บป่วยทั่วไป การใช้ยาประจำ การแพ้ยา การผ่าตัดอื่นๆ

การตรวจร่างกาย

          แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปของทั้งสองฝ่าย เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติแล้วให้การสืบค้นและรักษาต่อไปถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น  ส่วนการตรวจภายในของฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ทำทุกคน ยกเว้นว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประวัติคลำได้ก้อนในช่องท้อง ประวัติปวดท้องน้อยหรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือ มีประวัติอื่นที่ทำให้แพทย์สงสัยว่า จะมีความปิดปกติในอุ้งเชิงกราน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ( Pap smear ) ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติเสี่ยงอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในในเบื้องต้น

การตรวจเลือด

          วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือด คือ การตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หมู่เลือดเป็นเลือดหายากหรือไม่ หรือจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันหรือไม่ และตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มบางโรค ดังนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

          -ตรวจดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือเป็นพาหะหรือเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ โดยเจาะเลือดตรวจ CBC (Complete blood count ),Hb typing (Hemoglobin typing) เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศแถบเอเชีย

         -ตรวจหมู่เลือดหลัก ABO และหมู่เลือดย่อย Rh ซึ่งปกติแล้วจะเป็น Rh + (Rh positive) แต่ถ้ามารดาเป็น Rh - (Rh negative ) จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดแม่เลือดลูกไม่เข้ากันได้ เพราะถูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในครรภ์แรกจะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกครรภ์ถดไป ทำให้ทารกเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก แต่สามารถป้องกันได้โดยฉีดยาต้านการไม่เข้ากันของหมู่เลือดดังกล่าว ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนเพื่อวางแผนการักษาได้

          -ตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเจาะเลือดตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb or Anti HBs) โรคซิฟิลิส (VDRL) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสเอดส์ (Anti HIV)
       
          -ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella IgG ) ในฝ่ายหญิง
   
     ถ้าตรวจพบว่า มีโรคซิฟิลิส ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และป้องกันการติดเชื้อไปให้คู่นอนโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกายจากโรค
     ถ้าตรวจพบว่า เป็นพาหะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันไว้
     ถ้าตรวจพบว่า ฝ่ายหญิงยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันก็ควนฉีดวัคซีนเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ข้อควรระวัง คือ ห้ามตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อบ 3 เดือน หลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน


หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา  
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7   โทรสาร 02-4129868

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

เพศศึกษา กระบวนการร่วมรัก

กระบวนการร่วมรัก 

มีขั้นตอนดังนี้

1.ระยะพลอดรัก  ( Prelude )

เป็นช่วงที่คู่รักมีความสุขในการอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น นั่งรับประทานอาหารด้วยกันสองต่อสองใต้แสงเทียน นั่งดูทีวีจับมือกันหรือกิจกรรมอย่างอื่น คู่รักควรให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้
-การแต่งกายที่ดึงดูดเพศตรงข้าม
-มีความสะอาด
-ใช้กลิ่นน้ำหอมที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
-ไม่รับประทานอาหารที่ทำให้มีกลิ่นปาก หรือควรแปรงฟันก่อน
-มีบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว

ระยะนี้จะเป็นช่วงเริ่มตันของระยะตื่นเต้น

2.ระยะเล่นรัก   ( Foreplay|, love play )

เป็นช่วงที่มีความสุขในกามารมณ์ คือ ระยะตื่นเต้น คู่รักควรใช้ระยะเวลานี้นานๆอย่างเร่งรีบ ระยะนี้อาจนานแค่นาทีหรือนานเป็นชั่วโมงได้ เป็นช่วงที่คู่รักสัมผัสกันเพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้นาน ข้อสำคัญคือ ไม่ควรสัมผัสกระตุ้นอวัยวะเพศในช่วงแรก การกระตุ้นอวัยวะเพศโดยเฉพาะปุ่มกระสันนานไปในฝ่ายหญิงอาจทำให้เจ็บ และลดอารมณ์ทางเพศลง การเล่นรักมีหลายชนิด คือ การลูบคลำสัมผัส การนวด การเลีย การจูบ การช่วยตัวเองโดยคู่รัก และการใช้ปากกระตุ้นอวัยวะเพศ คู่รักสามารถเลือกวิธีการใดก็ได้ ที่ทั้งคู่ชอบและทำให้มีความสุข อาจช่วยตัวเองโดยคู่รักให้สำเร็จ จุดสุดยอดหนึ่งรอบก่อน แล้วค่อยเริ่มรอบใหม่ การเล่นรักด้วยปากนั้น ไม่มีอะไรน่ากลัวหรือน่ารังเกียจ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความสะอาดทั้งอวัยวะเพศและปาก ไม่มีการติดเชื้อในขณะนั้น และอย่าบังคับให้คู่รักกระทำด้วยปากถ้ายังไม่พร้อมหรือเต็มใจ
จุดตำแหน่งเร้าอารมณ์ ( erotic area ) ได้แก่ ริมฝีปาก ก้น ต้นขาบนด้านใน ลำตัว เต้านม และอวัยวะเพศ

ตำแหน่งจีสปอต ( Grafenberg Spot , G Spot ) เป็นเนื้อเยื่อประสาทมีรูปร่างเหมือนถั่ว อยู่กึ่งกลางระหว่างด้านหลังกระดูกหัวหน่าวกับปากมดลูก วิธีคลำหา คือ สอดนิ้วเข้าช่องคลอดแล้วกดทางด้านหน้า ลึกเข้าไป 1.5-3.0 นิ้ว จะรู้สึกเป็นสัน และรู้สึกเสียว การกดลูบกระตุ้นจีสปอตมีความเสียวเหมือนหรือมากกว่าการกระตุ้นปุ่มกระสัน ดังนั้นจึงสามารถ กระตุ้นจนถึงจุดสุดยอดได้  ท่าร่วมเพสที่ปลายองคชาตมีทิศทางไปด้านหน้าช่องคลอด จะเพิ่มความเสียวทางเพศเพราะจะกดจีสปอต โดยเฉพาะท่าร่วมเพศด้านหลัง ( เช่น ท่า doggy ) จะเห็นได้ว่า จีสปอตไม่ได้อยู่ลึกเลย อย่างมากลึกแค่ 3 นิ้ว ดังนั้นองคชาติไม่จำเป็นต้องยาว ก็สามารถกระตุ้นจีสปอตให้มีความสุขได้


3.ระยะลงรัก  ( Sexual act )

เมื่อความรู้สกทางเพศถูกกระตุ้นจนถึงระยะกระสันแล้ว ทั้งฝ่ายหญิงและชายมีความต้องการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ที่สำคัญคือ ฝ่ายชายจะถึงระยะกระสันกว่าฝ่ายหญิง ดังนั้นฝ่ายชายควรทราบว่า ฝ่ายหญิงมีความพร้อมถึงระยะกระสันหรือยัง โดยการสังเกตอาการหรือการบอกกล่าวของฝ่ายหญิง ( ไม่ต้องอายที่จะบอก) ถ้าฝ่ายหญิงยังไม่พร้อม ไม่ควรรีบสอดอวัยวะเพศ เพราะฝ่ายหญิงอาจไม่ถึงจุดสุดยอด ถ้าฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิเร็ว

ท่าร่วมเพศ มีหลายท่า ดังต่อไปนี้

1.ท่านอน มี 2 แบบ คือ ฝ่ายชายอยู่บน หรือ ฝ่ายหญิงอยู่บน
2.ท่านั่ง
3.ท่าคุกเข่า
4.ท่ายืน
5.ท่าข้างหลัง
6.ท่าตะแคง

ในแต่ละท่า อาจจะมีท่าย่อยๆซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอีกจำนวนมาก ซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากหนังสือ หรือจากอินเตอร์เน็ต

การมีท่าร่วมเพศหลายๆแบบ ทำให้กิจกรรมทางเพศไม่เป็นที่น่าเบื่อ ทำที่เริ่มต้นในการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงแรก ควรเป็นท่าพื้นฐาน คือ ท่านอน ซึ่งฝ่ายชายอยู่ข้างบน


4.ระยะหลังร่วมรัก  ( Postlude )

เป็นระยะที่มีความสำคัญสำหรับฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงมีความรู้สึกต้องการความเอาใจใส่และโอบกอดใกล้ชิดจากฝ่ายชายอีกสักระยะ ฝ่ายชายไม่ควรรีบเอาอวัยวะเพศออก ควรรอจนอวัยวะเพศหดตัวหลุดออกมาเองก็ได้ (ยกเว้น คุมกำเนิดโดยการหลั่งข้างนอก )


เพศสัมพันธ์   เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตคู่ โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  การปฏิบัติที่เต็มไปด้วยความรักเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังที่คนมักจะกล่าวว่า make love แตกต่างจาก make sex อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามปัจจัยอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยในชีวิตคู่ เช่นอุปนิสัยใจคอ   การเห็นอกเห็นใจ  ความเป็นห่วงเป็นใย การให้ความดูแล ความรับผิดชอบ และการช่วยกันหารายได้ ทั้งหญิงชายช่วยกันสร้างและถนุถนอมความรักที่มีกันมาตั้งแต่เริ่มต้นที่น่าจะมากที่สุดให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7 โทรสาร 02-4129868


วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

คำนำหนังสือ การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

คำนำ

การสมรสหรือการอยู่ร่วมกัน เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีความสำคัญมาก ในอดีตคู่สมรสไม่ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการสมรส และภายหลังการตั้งครรภ์ มีอะไรบ้างที่ควรดูแลเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันคู่สมรสได้รับทราบความรู้ต่างๆมากขึ้น แต่ยังไม่ทราบทั้งหมด และไม่เข้าใจรายละเอียดเพียงพอ คู่สมรสจึงมีความต้องการความรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน และการตั้งครรภ์

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนี้ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือเล่มนี้คงเป็นประโยชน์แก่คู่สมรสในการเตรียมตัวในการสร้างครอบครัวที่มีความสุขทั้งกายและใจเป็นอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงมานี ปิยะอนันต์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์ที่ช่วยกรุณาออกแบบปกหน้าปกหลัง และคุณณัฎฐณิชา ช่วงสันเทียะ ที่กรุณาช่วยงานจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
หัวหน้าหน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และะงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-4194736-7

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2


รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การให้คำปรึกษา

1.ผลเลือด

>> กรุ๊ปเลือด   ถ้ากรุ๊ปเลือดฝ่ายหญิงเป็น Rh ลบ ถือว่า ผิกปกติ มารดาอาจถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ถ้าทารกในครรภ์แรกมีกรุ๊ป Rh บวก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในครรภ์ที่ 2 ถ้าทารกในครรภ์มีกรุ๊ป Rh บวก และภูมิต้านทานนี้จะผ่านไปทำลายเม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงจนทำให้ทารกหัวใจวายในครรภ์และเสียชีวิตได้
    การรักษา คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ในครรภ์แรก โดยการฉีดยาป้องกัน 2 ครั้ง คือ ขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน และ ภายหลังคลอดทันที

>> ชนิดของฮีโมโกบิน ถ้าผิดปกติทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องพิจารณาว่า บุตรมีโอกาสเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีโอกาสก็ต้องตรวจทารกในครรภ์ โดยการเจาะเลือดทารกหรือเนื้อรกมาตรวจวินิจฉัย

>>ผลไวรัสตับอักเสบ บี ถ้าพบว่า ฝ่ายใดมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยที่อีกฝ่ายไม่มีภูมิต้านทานก็ต้องฉีดวัคซีนตับอักเสบ บี ทั้งหมด 3 เข็ม ใช้เวลา 6 เดือน  และขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตับอักเสบ บี ทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 6 - 7 เดือน

>>ผลโรคซิฟิลิส ถ้าพบว่า เป็นโรคนี้ ก็ต้องให้การรักษาให้หายก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซิฟิลิสทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 3 เดือน

>>ผลโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ถ้าพบว่า มีเชื้อนี้ ไม่ต้องกลัวเสีบชีวิตเพราะปัจจุบันสามารถรักษาได้ดี และสามารถมีชีวิตได้เป็นปกติ แต่ต้องกินยาตลอดชีวิต และป้องกันไม่ให้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด

>>ผลภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ถ้าไม่มีภูมิต้านทานควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 1 เข็ม และไม่ควรตั้งครรภ์ภายหลังฉีด 3 เดือน


2.การคุมกำเนิด

คู่รักฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ถ้าอยากมีบุตรอาจไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหรือคุมในระยะสั้นๆส่วนคู่รักฝ่ายหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้คู่รักปรับตัวเข้าหากัน ถ้าทั้งคู่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน นอกจากนี้ให้คู่รักได้มีโอกาสใช้ชีวิตคู่ให้คุ้มค่า เพราะถ้าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ชีวิตคู่ก็จะหมดไป
วิธีการคุมกำเนิดที่แนะนำคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมที่มีฮอร์โมนต่ำ โดนเรื่อมยารอบระดูก่อนวันแต่งงาน 1 เดือน ในกรณีที่คู่รักจะมีประจำเดือนช่วงวันแต่ึ้งงานและช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ก็สามารถเลื่อนประจำเดือนได้โดยการให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อโดยไม่ต้องหยุด 7 วัน


3.เพศศึกษา

ในคู่ที่ไม่เคยมีเพศสัมพพันธ์มาก่อน แนะนำให้ซื้อหนังสือเพศศึกษาที่มีขายแพร่หลายมาศึกษา และเน้นให้ฝ่ายชาย ทราบว่า ฝ่ายหญิงควรมีความพร้อมก่อนที่ฝ่ายชายจะมีการร่วมเพศจริง .ซึ่งฝ่ายชายควรเล้าโลมฝ่ายหญิงอย่างน้อย 20-30 นาที นอกจากนี้ควรจะพูดเปิดเผยกันได้ในเรื่องเเพศสัมพันธ์ ส่วนในรายที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วก็สอบถามว่ามีปัญหาหรือไม่


4.การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ 

มีการแนะนำให้กินวิตามินโฟลิค ( folic acid ) ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และอีก 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท ( neural tube defects ) ซึ่งไม่ได้พบบ่อย


5.ปัญหาอื่นๆ

>>หญิงที่อาจมีลูกยาก ได้แก่ หญิงที่มีรอบประจำเดือนไม่ปกติ หรือมีประจำเดือนมาก และหญิงอายุมากกว่า 35 ปี รีบมาปรึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ
>>หญิงที่อาจเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หญิงที่ปวดประจำเดือนมากและราวไปทวารหนัก ถ้ามีปัญหาให้กลับมาปรึกษาใหม่



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7
# ในวัน - เวลาราชการเท่านั้นค่ะ #


วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การวางแผนครอบครัว นั้น มิใช่การวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว แต่มีการให้คำแนะนำในหลายๆด้าน แพทย์ที่ให้การดูแลอาจเป็นสูติ-นรีแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคู่รักที่มาปรึกษาก่อนสมรส บางคู่มีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว และบางคู่แต่งงานมาแล้ว แต่ต้องการตรวจก่อนปล่อยให้มีครรภ์ ซึ่งการดูแลก็ไม่แตกต่างกัน

วัตถุประสงค์
1.ตรวจสุขภาพทั่วไป
2.ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคซิฟิริส โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไวรัสตับอักเสบบี
3.ตรวจหาความเสี่ยงของโรคธาลัสซีเมีย (เลือดจางกรรมพันธุ์) ไปสู่บุตร
4.ป้องกันโรคหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์
5.ให้ความรู้ทางเพศศึกษาและค้นหาปัญหา
6.หาปัจจัยที่อาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์และต่อการตั้งครรภ์
7.แนะนำการปรับตัวในการมีชีวิตคู่

แผนการตรวจสุขภาพก่อนสมรสของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่การตรวจทางเลือดจะคล้ายเคียงกัน

การซักประวัติ
การซักประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น มีประโยชน์มากในการให้คำปรึกษา ยกเว้นคู่รักไม่ยอมเปิดเผยความจริง

การตรวจร่างกาย
ตรวจชีพจร ความดันโลหิต และตรวจร่างกายทั่วไปก็เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภายใน ยกเว้นคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์กันมานานแล้ว และยินยอมให้ตรวจ


การตรวจเลือด
ก่อนการเจาะเลือด ต้องให้คำปรึกษาสำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและต้องให้ลงนามในใบยินยอมที่จะบอกผลเลือดที่ผิดปกติต่อหน้าทั้ง 2 ฝ่าย ที่โรงพยาบาลศิริราชส่งตรวจหา
1.กรุ๊ปเลือด ABO และ Rh
2.ชนิดของฮีโมโกบิน ( Hemoglobin typing ) เพื่อตรวจโรคเลือดธาลัสซีเมีย
3.เชื้อไวรัสตับอักเสบ ( HBsAg ) และภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี ( HBsAb )
4.โรคซิฟิริส ( VDRL )
5.โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( Anti HIV )
6.ภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ( Rubella Ig G )



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7


ติดตามการตรวจสุขภาพก่อนสมรส  2 >>>>