วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การตั้งครรภ์

 การตั้งครรภ์


         การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ใกล้ภาวะไข่ตกในฝ่ายหญิงมากที่สุด จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด โดยนับจากระยะห่างของรอบเดือน(ปกติจะอยู่ในช่วง 21-35 วัน ) ลบด้วย 14 จะเท่ากับวันที่ไข่ในแต่ละรอบเดือนนั้น หรือใช้วิธีการตรวจหาวันไข่ตกโดยการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตกไข่ ในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ส่วนการตรวจโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายมีความคลาดเคลื่อนได้สูง ถ้าคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็ถือว่า คู่สมรสนั้นมีภาวะผู้มีบุตรยาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การปรึกษาต่อไป
          ในผู้หญิงที่มีปีะจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การขาดประจำเดือนอาจไม่ชัดเจน แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงหน้าอก อาจเป็นอาการที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ในรายที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ถ้ามีการขาดหายไปของประจำเดือน ควรทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย 

การฝากครรภ์

          เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถมาปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย ส่วนจะเลือกโรงพยาบาลใดนั้น ก็ขึ้นกับความสะดวกในการเดินทาง การมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และการประเมินค่าใช้จ่าย แต่ควรจะเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางได้สะดวกใกล้บ้าน จะมีผลดีกว่าถ้ามีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถที่จะได้รับการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว กว่าสถานพยาบาลที่อยู่ไกล ในการฝากครรภ์นั้นแพทย์จะทำการซักประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด การแท้ง ประวัติวันแรกของการมีประจำเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อนำมาคำนวณอายุครรภ์ และคะเนวันครบกำหนดคลอด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจหัวนมและเต้านม ซึ่งพบว่ามีความผิดปกติก็จะทำการแก้ไขหัวนมอย่างต่อเนื่อง ทำการตรวจเลือดซึ่งคล้ายกับที่ตรวจก่อนการตั้งครรภ์ คือ ตรวจหาโรคโลหิตจาง หมู่เลือด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินว่า เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือไม่ 
          
          การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
     -มารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทารกที่มีความผิดปกติทางโคโมโซมได้สูง (ส่วนใหญ่เป็นดาวน์ซิมโดรม คือ มีปัญญาอ่อน )  ซึ่งได้รับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ (ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ) เพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ ส่วนในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดเด็กดาวน์ซิมโครมต่ำกว่า จึงเลี่ยงการเจาะตรวจน้ำคร่ำก่อน (โอกาสแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ =1 ใน200) โดยใช้การเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมแทน โดยใช้ข้อมูล อายุมารดา อายุครรภ์และค่าของสาร หรือระดับฮอร์โมนที่รกสร้าง แล้วนำมาประเมินเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติว่ามากหรือน้อย ถ้าความเสี่ยงมากจึงเจาะน้ำคร่ำต่อไป
     -มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ได้แก่ อายุมากกว่า 30 ปี มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว เคยมีประวัติการคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้ามีประวัติเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ถ้าผลตรวจคัดกรองพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะตรวจละเอียดอีกครั้งว่ามีเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
     -มารดาที่มีประวัติคลอดยากในครรภ์ก่อน ต้องใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดในครรภ์ก่อน
     -มารดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคประจำตัว โรคเลือด ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ เป็นต้น โดยก่อนที่จตะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ สูติแพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่นั้นๆ ในการดูแลมารดาและทารก

          หลังการฝากครรภ์ในครั้งแรกแล้วแพทย์ก็จะนัดฟังผลเลือดในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา  เพื่อบอกผลเลือด ให้คำแนะนำดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ แพทย์จะนัดตรวจต่อทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงอายุครรภ์ 6-16 สัปดาห์ มารดาอาจมีอาการแพ้ท้องได้  แพทย์ก็จะให้ยาแก้แพ้ท้องไปรับประทานร่วมกับยาบำรุง โดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ท้องมักไม่รุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้ท้อง แต่ถ้ามารดามีอาการมากอาเจียนตลอดเวลา รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจต้องมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ท้องมากผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์แฝด  ครรภ์ไข่ปลาอุก ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ถ้าไม่มีความผิดปกติดังกล่าว แพทย์ก็จะนัดตรวจเป็นระยะๆจนอายุครรภ์หลัง 28 สัปดาห์ ก็จะนัดตรวจถี่ขึ้นเป็นทุก 2-3 สัปดาห์ และนัดทุก 1 สัปดาห์ในเดือนสุดท้าย โดยการตรวจแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจทางหน้าท้องเพื่อคลำขนาดมดลูก ท่าของทารก ประเมินการเจริญเติบโตของทารก ฟังเสียงการเต้นหัวใจทารก ตรวจว่า มีการบวมหรือไม่ และตรวจปัสสาวะหาว่ามีน้ำตาลหรือไข่ขาวปนออกมาหรือไม่ ให้ยาบำรุงเลือด และหรือแคลเซียม กลับไปรับประทาน ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถ้ามารดายังไม่เคยได้รับมาก่อน ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินความผิดปกติของทารก แพทย์จะทำการตรวจในช่วงประมาณอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ แต่ถ้ามารดาจำประวัติประจำเดือนได้ไม่แน่นอน ก็ควรได้รับการตรวจอัลต้าซาวด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆเนื่องจากมีความแม่นยำในการประเมินอายุครรภ์และคะเนวันคลอดได้แม่นยำกว่ามาตรวจตอนที่อายุครรภ์มากๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาการเทคนิคการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพชักเจนมากขึ้น คือ อัลตร้าซาวด์ 3 หรือ 4 มิติ ( 3D หรือ 4D) ซึ่งมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องการตรวจความผิดปกติ หรือความพิการของทารกในครรภ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง  


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น