การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนอ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการเกิดหรือการปฏิสนธิ หรือการตั้งครรภ์ สรุปคือ ป้องกันหรือไม่ให้อสุจิในน้ำเชื้อของฝ่ายชายมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงภายในปีกมดลูก และป้องกันไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก

เพศศึกษา

เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่่งที่เกิดขึ้น เมื่อหญิงและชายมีความรักผูกพัน อยากอยู่ใกล้กันและกันและอยากสัมผัสกัน ความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ยกเว้นหญิงและชายนั้นอายุมากจริงๆก็อาจไม่มีความต้องการทางเพศ

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ คือ ช่วงระยะเวลาเริ่มหลังจากการปฏิสนธิ โดยที่ตัวอสุจิ (sperm) ผสม (conceive) กับ ไข่ (egg)ในสภาวะและเวลาที่เหมาะสม จนถึงการคลอด โดยในมนุษย์ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน

สุขภาพ

สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกชีวิตการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ...

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การตั้งครรภ์

 การตั้งครรภ์

         การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ใกล้ภาวะไข่ตกในฝ่ายหญิงมากที่สุด จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด โดยนับจากระยะห่างของรอบเดือน(ปกติจะอยู่ในช่วง 21-35 วัน ) ลบด้วย 14 จะเท่ากับวันที่ไข่ในแต่ละรอบเดือนนั้น หรือใช้วิธีการตรวจหาวันไข่ตกโดยการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตกไข่ ในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ส่วนการตรวจโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายมีความคลาดเคลื่อนได้สูง ถ้าคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็ถือว่า คู่สมรสนั้นมีภาวะผู้มีบุตรยาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การปรึกษาต่อไป
          ในผู้หญิงที่มีปีะจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การขาดประจำเดือนอาจไม่ชัดเจน แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงหน้าอก อาจเป็นอาการที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ในรายที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ถ้ามีการขาดหายไปของประจำเดือน ควรทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย 

การฝากครรภ์

          เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถมาปรึกษาแพทย์เพื่อฝากครรภ์ได้เลย ส่วนจะเลือกโรงพยาบาลใดนั้น ก็ขึ้นกับความสะดวกในการเดินทาง การมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และการประเมินค่าใช้จ่าย แต่ควรจะเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางได้สะดวกใกล้บ้าน จะมีผลดีกว่าถ้ามีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถที่จะได้รับการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว กว่าสถานพยาบาลที่อยู่ไกล ในการฝากครรภ์นั้นแพทย์จะทำการซักประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด การแท้ง ประวัติวันแรกของการมีประจำเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อนำมาคำนวณอายุครรภ์ และคะเนวันครบกำหนดคลอด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจหัวนมและเต้านม ซึ่งพบว่ามีความผิดปกติก็จะทำการแก้ไขหัวนมอย่างต่อเนื่อง ทำการตรวจเลือดซึ่งคล้ายกับที่ตรวจก่อนการตั้งครรภ์ คือ ตรวจหาโรคโลหิตจาง หมู่เลือด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินว่า เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือไม่ 
          
          การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
     -มารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทารกที่มีความผิดปกติทางโคโมโซมได้สูง (ส่วนใหญ่เป็นดาวน์ซิมโดรม คือ มีปัญญาอ่อน )  ซึ่งได้รับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ (ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ) เพื่อนำไปตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ ส่วนในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดเด็กดาวน์ซิมโครมต่ำกว่า จึงเลี่ยงการเจาะตรวจน้ำคร่ำก่อน (โอกาสแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ =1 ใน200) โดยใช้การเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมแทน โดยใช้ข้อมูล อายุมารดา อายุครรภ์และค่าของสาร หรือระดับฮอร์โมนที่รกสร้าง แล้วนำมาประเมินเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติว่ามากหรือน้อย ถ้าความเสี่ยงมากจึงเจาะน้ำคร่ำต่อไป
     -มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ได้แก่ อายุมากกว่า 30 ปี มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว เคยมีประวัติการคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้ามีประวัติเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ถ้าผลตรวจคัดกรองพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะตรวจละเอียดอีกครั้งว่ามีเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
     -มารดาที่มีประวัติคลอดยากในครรภ์ก่อน ต้องใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดในครรภ์ก่อน
     -มารดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคประจำตัว โรคเลือด ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ เป็นต้น โดยก่อนที่จตะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ สูติแพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่นั้นๆ ในการดูแลมารดาและทารก

          หลังการฝากครรภ์ในครั้งแรกแล้วแพทย์ก็จะนัดฟังผลเลือดในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา  เพื่อบอกผลเลือด ให้คำแนะนำดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ แพทย์จะนัดตรวจต่อทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงอายุครรภ์ 6-16 สัปดาห์ มารดาอาจมีอาการแพ้ท้องได้  แพทย์ก็จะให้ยาแก้แพ้ท้องไปรับประทานร่วมกับยาบำรุง โดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ท้องมักไม่รุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้ท้อง แต่ถ้ามารดามีอาการมากอาเจียนตลอดเวลา รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจต้องมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ท้องมากผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์แฝด  ครรภ์ไข่ปลาอุก ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ถ้าไม่มีความผิดปกติดังกล่าว แพทย์ก็จะนัดตรวจเป็นระยะๆจนอายุครรภ์หลัง 28 สัปดาห์ ก็จะนัดตรวจถี่ขึ้นเป็นทุก 2-3 สัปดาห์ และนัดทุก 1 สัปดาห์ในเดือนสุดท้าย โดยการตรวจแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจทางหน้าท้องเพื่อคลำขนาดมดลูก ท่าของทารก ประเมินการเจริญเติบโตของทารก ฟังเสียงการเต้นหัวใจทารก ตรวจว่า มีการบวมหรือไม่ และตรวจปัสสาวะหาว่ามีน้ำตาลหรือไข่ขาวปนออกมาหรือไม่ ให้ยาบำรุงเลือด และหรือแคลเซียม กลับไปรับประทาน ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถ้ามารดายังไม่เคยได้รับมาก่อน ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินความผิดปกติของทารก แพทย์จะทำการตรวจในช่วงประมาณอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ แต่ถ้ามารดาจำประวัติประจำเดือนได้ไม่แน่นอน ก็ควรได้รับการตรวจอัลต้าซาวด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆเนื่องจากมีความแม่นยำในการประเมินอายุครรภ์และคะเนวันคลอดได้แม่นยำกว่ามาตรวจตอนที่อายุครรภ์มากๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาการเทคนิคการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพชักเจนมากขึ้น คือ อัลตร้าซาวด์ 3 หรือ 4 มิติ ( 3D หรือ 4D) ซึ่งมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องการตรวจความผิดปกติ หรือความพิการของทารกในครรภ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง  


หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร.02-4194736-7 

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

อ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์

          ในปัจจุบันคู่สมรสมักมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร และตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการโฆษณาโปรแกรมการตรวจคู่สมรสก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นคู่สมรสอาจสับสนระหว่างการตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและเตรียมก่อนมีบุตรว่า เหมือนกันหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจทั้งสองภาวะหรือไม่ ความพร้อมในการมีบุตรของแต่ละคู่สมรสอาจไม่เหมือนกัน บางคู่พร้อมที่จะมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน แต่บางคู่ขอสร้างรากฐานของครอบครัวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยปล่อยมีบุตร  เมื่อมีความตั้งใจที่จะมีบุตรแล้ว ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และความเสี่ยงต่อมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

         การตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและการตรวจเพื่อเตรียมก่อนตั้งครรภ์นั้นมีหลักการในการตรวจเหมือนกันคือ การตรวจหาโรค หรือภาวะผิดปกติ การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม การให้ภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างแก่ฝ่ายหญิงก่อนการตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจก่อนแต่งงานก็จะมีประโยชน์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไม่ปลอดภัย เมื่อคู่สมรสมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว อาจจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจดังนี้

การซักประวัติ

          -ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง การคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ ประวัติประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการตกขาวปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งบ่งบอกถึงอุ้งเชิงกรานหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง โรคประจำตัวอื่น ประวัติการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ การซักประวัตินี้อาจต้องแยกซัก เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้เปิดเผยข้อมูลได้
          -ประวัติความผิดปกติหรือความพิการตั้งแต่กำเนิดในครอบครัว รวมทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
          -ประวัติการเจ็บป่วยทั่วไป การใช้ยาประจำ การแพ้ยา การผ่าตัดอื่นๆ

การตรวจร่างกาย

          แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปของทั้งสองฝ่าย เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติแล้วให้การสืบค้นและรักษาต่อไปถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น  ส่วนการตรวจภายในของฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ทำทุกคน ยกเว้นว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประวัติคลำได้ก้อนในช่องท้อง ประวัติปวดท้องน้อยหรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือ มีประวัติอื่นที่ทำให้แพทย์สงสัยว่า จะมีความปิดปกติในอุ้งเชิงกราน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ( Pap smear ) ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติเสี่ยงอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในในเบื้องต้น

การตรวจเลือด

          วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือด คือ การตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หมู่เลือดเป็นเลือดหายากหรือไม่ หรือจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันหรือไม่ และตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มบางโรค ดังนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

          -ตรวจดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือเป็นพาหะหรือเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ โดยเจาะเลือดตรวจ CBC (Complete blood count ),Hb typing (Hemoglobin typing) เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศแถบเอเชีย

         -ตรวจหมู่เลือดหลัก ABO และหมู่เลือดย่อย Rh ซึ่งปกติแล้วจะเป็น Rh + (Rh positive) แต่ถ้ามารดาเป็น Rh - (Rh negative ) จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดแม่เลือดลูกไม่เข้ากันได้ เพราะถูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในครรภ์แรกจะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกครรภ์ถดไป ทำให้ทารกเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก แต่สามารถป้องกันได้โดยฉีดยาต้านการไม่เข้ากันของหมู่เลือดดังกล่าว ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนเพื่อวางแผนการักษาได้

          -ตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเจาะเลือดตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb or Anti HBs) โรคซิฟิลิส (VDRL) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสเอดส์ (Anti HIV)
       
          -ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella IgG ) ในฝ่ายหญิง
   
     ถ้าตรวจพบว่า มีโรคซิฟิลิส ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และป้องกันการติดเชื้อไปให้คู่นอนโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกายจากโรค
     ถ้าตรวจพบว่า เป็นพาหะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันไว้
     ถ้าตรวจพบว่า ฝ่ายหญิงยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันก็ควนฉีดวัคซีนเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ข้อควรระวัง คือ ห้ามตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อบ 3 เดือน หลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน


หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา  
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7   โทรสาร 02-4129868

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

เพศศึกษา กระบวนการร่วมรัก

กระบวนการร่วมรัก 

มีขั้นตอนดังนี้

1.ระยะพลอดรัก  ( Prelude )

เป็นช่วงที่คู่รักมีความสุขในการอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น นั่งรับประทานอาหารด้วยกันสองต่อสองใต้แสงเทียน นั่งดูทีวีจับมือกันหรือกิจกรรมอย่างอื่น คู่รักควรให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้
-การแต่งกายที่ดึงดูดเพศตรงข้าม
-มีความสะอาด
-ใช้กลิ่นน้ำหอมที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
-ไม่รับประทานอาหารที่ทำให้มีกลิ่นปาก หรือควรแปรงฟันก่อน
-มีบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว

ระยะนี้จะเป็นช่วงเริ่มตันของระยะตื่นเต้น

2.ระยะเล่นรัก   ( Foreplay|, love play )

เป็นช่วงที่มีความสุขในกามารมณ์ คือ ระยะตื่นเต้น คู่รักควรใช้ระยะเวลานี้นานๆอย่างเร่งรีบ ระยะนี้อาจนานแค่นาทีหรือนานเป็นชั่วโมงได้ เป็นช่วงที่คู่รักสัมผัสกันเพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้นาน ข้อสำคัญคือ ไม่ควรสัมผัสกระตุ้นอวัยวะเพศในช่วงแรก การกระตุ้นอวัยวะเพศโดยเฉพาะปุ่มกระสันนานไปในฝ่ายหญิงอาจทำให้เจ็บ และลดอารมณ์ทางเพศลง การเล่นรักมีหลายชนิด คือ การลูบคลำสัมผัส การนวด การเลีย การจูบ การช่วยตัวเองโดยคู่รัก และการใช้ปากกระตุ้นอวัยวะเพศ คู่รักสามารถเลือกวิธีการใดก็ได้ ที่ทั้งคู่ชอบและทำให้มีความสุข อาจช่วยตัวเองโดยคู่รักให้สำเร็จ จุดสุดยอดหนึ่งรอบก่อน แล้วค่อยเริ่มรอบใหม่ การเล่นรักด้วยปากนั้น ไม่มีอะไรน่ากลัวหรือน่ารังเกียจ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความสะอาดทั้งอวัยวะเพศและปาก ไม่มีการติดเชื้อในขณะนั้น และอย่าบังคับให้คู่รักกระทำด้วยปากถ้ายังไม่พร้อมหรือเต็มใจ
จุดตำแหน่งเร้าอารมณ์ ( erotic area ) ได้แก่ ริมฝีปาก ก้น ต้นขาบนด้านใน ลำตัว เต้านม และอวัยวะเพศ

ตำแหน่งจีสปอต ( Grafenberg Spot , G Spot ) เป็นเนื้อเยื่อประสาทมีรูปร่างเหมือนถั่ว อยู่กึ่งกลางระหว่างด้านหลังกระดูกหัวหน่าวกับปากมดลูก วิธีคลำหา คือ สอดนิ้วเข้าช่องคลอดแล้วกดทางด้านหน้า ลึกเข้าไป 1.5-3.0 นิ้ว จะรู้สึกเป็นสัน และรู้สึกเสียว การกดลูบกระตุ้นจีสปอตมีความเสียวเหมือนหรือมากกว่าการกระตุ้นปุ่มกระสัน ดังนั้นจึงสามารถ กระตุ้นจนถึงจุดสุดยอดได้  ท่าร่วมเพสที่ปลายองคชาตมีทิศทางไปด้านหน้าช่องคลอด จะเพิ่มความเสียวทางเพศเพราะจะกดจีสปอต โดยเฉพาะท่าร่วมเพศด้านหลัง ( เช่น ท่า doggy ) จะเห็นได้ว่า จีสปอตไม่ได้อยู่ลึกเลย อย่างมากลึกแค่ 3 นิ้ว ดังนั้นองคชาติไม่จำเป็นต้องยาว ก็สามารถกระตุ้นจีสปอตให้มีความสุขได้


3.ระยะลงรัก  ( Sexual act )

เมื่อความรู้สกทางเพศถูกกระตุ้นจนถึงระยะกระสันแล้ว ทั้งฝ่ายหญิงและชายมีความต้องการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ที่สำคัญคือ ฝ่ายชายจะถึงระยะกระสันกว่าฝ่ายหญิง ดังนั้นฝ่ายชายควรทราบว่า ฝ่ายหญิงมีความพร้อมถึงระยะกระสันหรือยัง โดยการสังเกตอาการหรือการบอกกล่าวของฝ่ายหญิง ( ไม่ต้องอายที่จะบอก) ถ้าฝ่ายหญิงยังไม่พร้อม ไม่ควรรีบสอดอวัยวะเพศ เพราะฝ่ายหญิงอาจไม่ถึงจุดสุดยอด ถ้าฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิเร็ว

ท่าร่วมเพศ มีหลายท่า ดังต่อไปนี้

1.ท่านอน มี 2 แบบ คือ ฝ่ายชายอยู่บน หรือ ฝ่ายหญิงอยู่บน
2.ท่านั่ง
3.ท่าคุกเข่า
4.ท่ายืน
5.ท่าข้างหลัง
6.ท่าตะแคง

ในแต่ละท่า อาจจะมีท่าย่อยๆซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอีกจำนวนมาก ซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากหนังสือ หรือจากอินเตอร์เน็ต

การมีท่าร่วมเพศหลายๆแบบ ทำให้กิจกรรมทางเพศไม่เป็นที่น่าเบื่อ ทำที่เริ่มต้นในการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงแรก ควรเป็นท่าพื้นฐาน คือ ท่านอน ซึ่งฝ่ายชายอยู่ข้างบน


4.ระยะหลังร่วมรัก  ( Postlude )

เป็นระยะที่มีความสำคัญสำหรับฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงมีความรู้สึกต้องการความเอาใจใส่และโอบกอดใกล้ชิดจากฝ่ายชายอีกสักระยะ ฝ่ายชายไม่ควรรีบเอาอวัยวะเพศออก ควรรอจนอวัยวะเพศหดตัวหลุดออกมาเองก็ได้ (ยกเว้น คุมกำเนิดโดยการหลั่งข้างนอก )


เพศสัมพันธ์   เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตคู่ โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  การปฏิบัติที่เต็มไปด้วยความรักเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังที่คนมักจะกล่าวว่า make love แตกต่างจาก make sex อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามปัจจัยอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยในชีวิตคู่ เช่นอุปนิสัยใจคอ   การเห็นอกเห็นใจ  ความเป็นห่วงเป็นใย การให้ความดูแล ความรับผิดชอบ และการช่วยกันหารายได้ ทั้งหญิงชายช่วยกันสร้างและถนุถนอมความรักที่มีกันมาตั้งแต่เริ่มต้นที่น่าจะมากที่สุดให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7 โทรสาร 02-4129868


วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

เพศศึกษา ความรู้สึกทางเพศ

ความรู้สึกทางเพศ (การตอบสนองทางเพศ) มี 4 ระยะ คือ

1.ระยะตื่นเต้น ( excitement )
2.ระยะกระสัน ( plateau ) 
3.ระยะจุดสุดยอด ( orgasm )
4.ระยะฟื้นตัว ( resolution )
ในเพศชาย 
การตอบสนองทางเพศจะมีลักษณะที่สามารถถึงจุดสุดยอดได้เกือบทุกครั้งของการตอบสนองทางเพศ แต่มีการถึงจุดสุดยอดได้เพียงครั้งเดียว

ในเพศหญิง
การตอบสนองทางเพศจะมี 4 ลักษณะ  คือ
1.ความรู้สึกทางเพศขึ้นถึงจุดสุดยอดเร็วมาก
2. ลักษณะนี้เหมือนกับเพศชาย มีการถึงจุดสุดยอดเพียงครั้งเดียว
3.ลักษณะนี้มีการถึงจุดสุดยอดหลายครั้ง
4.ลักษณะนี้ ฝ่ายหญิงไม่มีการถึงจดสุดยอดเลย
การตอบสนองทางเพศ (ร่างกาย)

1.ระยะตื่นเต้น (รักร่วมสุข)

          เป็นระยะแรกของการมีอารมณ์ทางเพศ มีหัวใจเต้นเร็ว มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย 
-ฝ่ายชาย องคชาตขยายโตขึ้นและแข็งขึ้น ผิวหนังของพวงอัณฑะหนาขึ้น ลูกอัณฑะยกตัวหนาขึ้น
-ฝ่ายหญิง  เต้านมมีเลือดคั่งมากขึ้น ขนาดเต้านมโตขึ้น หัวนมลุกชันขึ้น ส่วนอวัยวะเพศมีการเปลี่ยนแปลง คือ แคมเล็กขยายโตขึ้น ช่องคลอดมีน้ำเมือกออกมา มดลูกยกตัวสูงขึ้น 
ระยะนี้มีความสำคัญมากในชีวิตเพศสัมพันธ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่แตกต่างกันอย่างมาก อาจใช้เวลาไม่ถึงนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ถ้าคู่รักสามารถมีความรักกันได้นานในช่วงนี้ จะเป็นอะไรที่วิเศษมาก แต่ถ้าให้ความสำคัญน้อย แต่ไปให้ความสำคัญของจุดสุดยอดอย่างเดียว ก็จะทำให้ความรักความผูกพันไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร ความหมายของ make love น่าจะเป็นช่วงนี้นั้นเอง

2.ระยะกระสัน

          เป็นระยะที่มีความเสียวทางเพศสูงคงที่ และพร้อมจะถึงจุดสุดยอด ฝ่ายหญิงมีความพร้อมที่ต้องการให้ฝ่ายชายสอดอวัยวะเพศแล้ว และฝ่ายชายก็มีความต้องการเช่นกัน ระยะนี้เป็นระยะสั้นไม่เกิน 3 นาที  
-ฝ่ายหญิง  ช่องคลอดส่วนนอก ( 1 ส่วน 3 )หดรัดตัวแคบลง ช่องคลอดส่วนบนยืดยาวขึ้น ต่อมปากช่องคลอดสร้างน้ำเมือกออกมา เพื่อช่วยหล่อลื่น
-ฝ่ายชาย  องคชาตแข็งตัวเต็มที่ มีน้ำเมือกใสไหลเยิ้มออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งสร้างจากต่อมสร้างเมือก เพื่อช่วยหล่อลื่นเช่นกัน
            ปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ คือ ฝ่ายชายมาถึงระยะนี้เร็วกว่าฝ่ายหญิง ขณะที่ฝ่ายหญิงใช้เวลานานกว่าที่จะมาถึงระยะกระสัน  ดังนั้นถ้าฝ่ายชายสอดใส่องคชาตเร็ว ฝ่ายหญิงอาจเจ็บถ้าน้ำหล่อลื่นยังไม่มีเพียงพอ  และทำให้ฝ่ายหญิงมีโอกาสถึงจุดสุดยอดยากขึ้น

3.ระยะจุดสุดยอด 

          เป็นระยะที่มีความรู้สึกทางเพศขึ้นจุดสุดยอด มีการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ครั้งละ 1-2 วินาที จำนวน 1-5 ครั้ง แต่จะมีความแรงมากที่สุดในครั้งแรก

          ในหญิง  มีการบีบรัดตัวของช่องคลอดส่วนนอก ช่องทวารหนัก และมดลูก
          ในชาย   มีการบีบรัดตัวของท่อปัสสาวะ ท่อนำเชื้อ ต่อมลูกหมาก ต่อมอื่นๆ และทวารหนัก

          ในระยะจุดสุดยอด ที่มีความรู้สึกพอใจ และมีความสุขนี้ เกิดจากความรู้สึกในสมอง ซึ่งยังไม่มีการอธิบายชัดเจนว่ามีกลไกอย่างไร

          ความสำคัญของระยะนี้คือ ฝ่ายชายนั้นส่วนมากสามารถถึงจุดสุดยอดเกือบร้อยทั้งร้อย ไม่ว่าในสภาวะใดๆ แต่ในฝ่ายหญิงนั้น ถ้าไม่มีการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศจนถึงระยะกระสัน และฝ่ายชายถึงจุดสุดยอดเร็วเกินไป ก็จะทำให้ฝ่ายหญิงไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ ดังนั้นฝ่ายชายควรทราบว่า ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดหรือไม่ ซึ่งสามารถทราบได้จากการแสดงออกหรือถามฝ่ายหญิงโดยตรง ถ้าฝ่ายหญิงยังไม่ถึงจุดสุดยอด ฝ่ายชายยังสามารถขยับอวัยวะเพศร่วมเพศต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เพราะอวัยวะเพศชายยังแข็งพอที่ยังใช้งานได้  ยกเว้นคู่รักใช้การหลั่งข้างนอกเป็นวิธีคุมกำเนิด

          ในกรณีที่อวัยวะเพศอ่อนตัวไม่สามารถร่วมพศต่อได้ เช่น ใช้นิ้วกระตุ้นปุ่มกระสันหรือสอดใส่กระตุ้นในช่องคลอด หรือไม่ก้อรอให้ฝ่ายชายพ้นระยะพักฟื้นแล้ว เริ่มการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศในรอบใหม่ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 5- 10 นาที การร่วมเพศรอบที่ 2 ฝ่ายชายจะมีควมอดทนในระยะกระสันได้นานกว่าครั้งแรก

        ในหญิงสามารถถึงจุดสุดยอดหลายครั้งได้ ถ้าฝ่ายชายไม่ถึงจุดสุดยอดเร็วเกินไป  ส่วนฝ่ายชายไม่สามารถเกิดการถึงจุดสุดยอดหลายครั้ง

4.ระยะฟื้นตัว

          ร่างกายกลับสู่สภาพปกติ ทั้งอวัยวะเพศ เต้านม และระบบหัวใจหลอดเลือด ในหญิงที่ไม่ถึงจุดสุดยอดจะไม่มีการบีบขับเลือดที่คั่งในอุ้งเชิงกราน ทำให้ระยะฟื้นตัวช้า ทำให้รู้สึกไม่สบายที่ที่บริเวณท้องน้อย ซึ่งอาจทำให้อารมณ์ค้างได้



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7 โทรสาร 02-4129868




เพศศึกษา สิ่งกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

เพศศึกษา 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา

โดยทั่วไปฝ่ายชายมักมีความรู้สึกทางเพศมากกว่าฝ่ายหญิง เมื่อความรักเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่แน่นอนว่า จะเป็นรักแท้ ฝ่ายหญิงต้องไม่เปิดโอกาสให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส อย่าให้ฝ่ายชายใช้เพศสัมพันธ์เป็นเครื่องต่อรองของการแสดงความรัก มิฉะนั้นฝายหญิงอาจเสียพรหมจรรย์แก่ชายที่ไม่ได้เป็นคู่ชีวิจจริงในชีวิต (ถ้าฝ่ายหญิงยังมีแนวคิดว่า พรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญ)

สิ่งกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

สิ่งกระตุ้นความรู้สึกทางเพศมีหลายชนิด แต่ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย จึงจะเกิดการกระตุ้นทางเพศได้ สิ่งกระตุ้นได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และจินตนาการ

1. รูป  การเห็นสรีระร่างกายของเพศตรงข้าม สามารถกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรเลือกชุกนอนที่ดู sexy และกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ดี (แต่อย่าไปให้คนอื่นเห็น) การดูภาพยนตร์ทางเพศเป็นการกระตุ้นทางการเห็นเช่นเดียวกัน

2.รส  มีบทบาทไม่มากในการกระตุ้นช่วงแรก แต่มีผลเมื่อมีการจูบกัน ซื่งมีผลจากการสัมผัสทางลิ้น และปาก ความสำคัญ คือ ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัดหรือกลิ่นแรงก่อนมีเพศสัมพันธ์ เช่น น้ำพริกปลาร้า แมงดา เป็นต้น

3.กลิ่น มีบทบาทมากทีเดียวเมื่อใกล้ชิดกัน กลิ่นตัวธรรมชาติสามารถกระตุ้นความรู้สึกได้ดีเช่นกัน เช่นที่เรียกว่า กลิ่นสาบสาว แต่ถ้ารู้ว่ากลิ่นตัวแรง การใช้น้ำหอมก็ช่วยได้มาก กลิ่นน้ำหอมที่เรียกว่า กลิ่นต้องห้าม (Taboo) จะมีความสารถในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้มากเป็นพิเศษ

4.เสียง  เสียงกระซิบหยอกเย้า เสียวขณะมีความกระสันทางเพศสามารถกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ ดังที่เห็นจากการมีการทำธุรกิจของ sex phone ที่ให้โทรศัพท์เข้าไปคุยกับเพศตรงข้ามโดยเฉพาะเพศหญิง และพูดจาทำเสียงกระกระตุ้นอารมณ์ และคิดค่าบริการเป็นนาที

5.สัมผัส  การสัมผัสกระตุ้นความรู้สึกได้ดีมาก แต่ต้องมีความรักต่อกัน ถ้าไม่มีความผูกพัน จะไม่กระตุ้นอารมณ์เลย การสัมผัสมีหลายรูปแบบ อาจเป็นการลูบสัมผัส นวด กอด จูบ หรือหอมก็ได้

6. จินตนาการ  การนึกถึงเพศตรงข้าม นึกถึงการมีเพศสัมพันธ์ สามารถกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้เช่นกัน โดยเฉพาะการช่วยตัวเอง ( masturbation) เป็นการใช้จินตนาการโดยตรง


สิ่งยับยั้งความรู้สึกทางเพศ

ไม่ใช่สิ่งกระตุ้นจะมีผลต่อความรู้สึกทางเพศทุกครั้ง สมองและจิตใจต้องประมวลการรับรู้ และการยับยั้งได้ สิ่งยับยั้งอารมณ์ทางเพศ คือ

1.สติสัมปชัญญะ  การรับรู้ การเรียนรู้ ประสบการณ์  ทำให้สามารถแยกแยะความเหมาะสม ความผิดถูกได้  ไม่ใช่เห็นลูกเมียใคร ก็มีความรู้สึกทางเพศไปหมด

2.ธรรมมะหรือคำสอนของทุกศาสนา  ทุกศาสนามีการอบรมสั่งสอนไม่ให้ประพฤติ หรือคิดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตามครรลองครองธรรม ไม่หมกหมุ่นในกามมากเกินไป

3.การเปิดโอกาสให้เกิดการกระตุ้น หญิงชายที่เป็นคู่รักกันนั้น ฝ่ายหญิงมักไม่ค่อยคิดจะมีเพศสัมพัน
ธ์ก่อนแต่งงาน ขอแค่อยู่ใกล้ชิดก็เพียงพอ แต่ฝ่ายชายมักจะมีความคิดที่จะมีเศสัมพันธ์ถ้ามีโอกาส ดังนั้นถ้าฝ่ายหญิงยังให้ความสำคัญ ของพรหมจรรย์ ก็อย่าเปิดโอกาสที่อยู่ตามลำพังสองต่อสอง



หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4194736-7 โทรสาร 02-4129868

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

อาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ Good food for Mom




8 Good food for Mom (รักลูก)
         อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่ ทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่มือใหม่ที่จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความเข้าใจและรู้จักอาหารการกินอย่างถูกต้องเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่

1.อาหารทั่วๆไป
         เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเป็นแม่ สิ่งที่คุณแม่ต้องทำโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน คือ
--ควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น นม กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ เป็นต้น เพื่อจะได้เสริมสร้างกระดูกของคุณแม่ให้แข็งแรง         
--กินกรดโฟลิกเพื่อบำรุงเลือด โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยากจะมีลูก คุณหมอจะแนะนำให้กินกรดโฟลิกเป็นประจำอย่างต่อเนื่องวันละ 400 ไมโครกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์--กินอาหารให้ครบ หมู่ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม

2.อาหารบำรุงเลือด
         คืออาหารที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดและดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่

--ทองแดง ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี พบในตับลูกพรุนแห้ง เมล็ดทานตะวัน เต้าหู้แข็ง ช็อกโกแลต เป็นต้น
--ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางของคุณแม่ได้ พบในตับ ไข่แดง เนื้อแดง งา ถั่วแดง ขนมปังโฮลวีต ลูกพรุน ผักโขม ถั่วลันเตา สาหร่ายทะเล เป็นต้น
--โฟเลต อาหารเริมสร้างเม็ดเลือดแดงได้แก่ บร็อกโคลี แคนตาลูป ตับ เนื้อแดง ผักโขม ผักกาดหอม และหน่อไม้ฝรั่ง
--โปรตีน ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น และยังสร้างโปรตีนของเม็ดเลือดแดงได้ด้วย แหล่งอาหารที่มีโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาทิ หมู ไก่ กุ้ง ปลา และเนื้อ เป็นต้น

3.อาหารแก้แพ้ท้อง

         เมื่อตั้งครรภ์จะกินอะไรก็ลำบาก เพราะกินไปแต่ละทีก็มีแต่อาเจียนออกมา ทำอย่างไรถึงจะหายแพ้ ลองแก้ด้วยวิธีต่อไปนี้
--แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อแก้อาการอยากอาเจียนและเบื่ออาหารของแม่ท้อง
--จิบน้ำขิงบ่อย ๆ ทีละน้อย เพราะน้ำขิงสามารถแก้อาการคลื่นไส้ได้
--ติดของว่างไว้ใกล้ ๆ ตัว ประเภทขนมปังขิง ขนมปังกรอบ หรือซีเรียลแท่งเล็ก ๆ จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่ตื่นนอนตอนเช้าและกลางคืนดึก ๆ
4.ไขมันและคาร์ไบไฮเดรตนั้นสำคัญ

ไขมันมีประโยชน์และช่วยในเรื่องพัฒนาการของลูกในครรภ์ โดย
เฉพาะไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หรือไขมันจากพืช เมล็ดพืช เช่น อโวคาโด พืชตระกูลถั่วเมล็ดทานตะวัน ส่วนไขมันจากปลาก็ได้แก่ ปลาที่ไม่ติดส่วนมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น
         ขณะที่ คาร์โบไฮเดรต คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับพลังงานมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 300-500 กิโลแคลอรี ซึ่งแหล่งพลังงานส่วนใหญ่ ก็มาจากแป้ง ข้าว น้ำตาล และผลไม้ ดังนั้น คุณแม่ควรกินอาหารประเภทที่มีกากใยโปรตีน ใยอาหาร เกลือแร่ และวิตามิน รวมอยู่ด้วย อันได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ถั่ว ผลไม้ ที่มีกากใย และธัญพืชต่าง ๆ ฯลฯ

5.กินผัก เพื่อลูก
         คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนไม่ชอบกินผัก แต่ยามนี้ ผักมีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ค่ะ ดังนั้นจึงควรพยายามกินให้ได้

ผักสีเขียว
 ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้ขับถ่ายง่าย เริ่มจากผักบุ้งถือเป็นผักที่กินง่ายที่สุด จากนั้นค่อยๆ ไล่ระดับไปจากผักบุ้งเป็นผักตำลึง บร็อกโคลี ผักกาด ผักคะน้า ไปเรื่อยๆ

ผักสีขาว
 ช่วยต้านมะเร็งและช่วยย่อยอาหาร เช่น ผักกาดขาว หัวไชเท้า ที่นำมาทำน้ำซุป และรสหวานไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวทำให้กินได้ง่าย

ผักสีส้ม
 ได้แก่ แครอต ฟักทอง โดยเฉพาะฟักทองนำมาทำเป็นของหวานก็ได้ หากคุณแม่ไม่ชอบอาหารคาว แต่ต้องระวังความหวานจากน้ำตาลที่ใช้ประกอบด้วย

ผักสีแดง
 คุณสมบัติคือช่วยชะลอความแก่ ได้แก่ มะเขือเทศ บีตรูต พริกหวาน
ผักสีม่วง ป้องกันอันตรายที่สะสมในเส้นเลือดและป้องกันโรคหัวใจ ได้แก่ กะหล่ำปลีสีม่วง และมะเขือม่วง

6.กินอะไร ให้เหมาะแต่ละไตรมาส
ไตรมาสแรก : 1-3 เดือน
          ช่วงนี้คุณแม่ต้องการพลังงานมากขึ้น สามารถกินอาหารได้ตามปกติ แต่ให้เน้นเมนูผักเป็นหลัก เพราะผักจะช่วยการย่อย และระบบขับถ่าย หากมีอาการคลื่นไส้ ผลไม้รสเปรี้ยวช่วยได้ค่ะ          ส่วนเครื่องดื่ม ควรเป็นน้ำผลไม้สด เช่น น้ำแตงโม น้ำส้ม แบบคั้นสดนะคะ ไม่ควรปั่น เพราะจะทำให้สูญเสียวิตามินได้ไตรมาสที่ 2 : 3-6 เดือน
          ควรเน้นผักใบเขียวมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีวิตามินสูง เช่น บร็อกโคลี คะน้า ผักบุ้ง แครอต ถั่วงอก มะเขือเทศ          ช่วงนี้ลูกน้อยกำลังเจริญเติบโต ฉะนั้นอาหารบำรุงลูกน้อย อย่างโอเมก้า พวกปลาทะเล และถั่วบางชนิดก็มีความสำคัญค่ะ          คุณแม่ท้องช่วงนี้ อาจจะมีอาการท้องอืดบ้าง การดื่มน้ำสมุนไพร เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ จะช่วยการระบายได้เป็นอย่างดี
ไตรมาสที่ 3 : 6-9 เดือน


          ใกล้คลอดเข้าไปทุกทีแล้ว คุณแม่อาจเคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก อาหารที่ควรกินคืออาหารที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย และเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง อาทิ บร็อกโคลี แคนตาลูป ตับ เนื้อแดง ผักโขม ผักกาดหอม และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

7.อาหารต้องห้ามยามท้อง
         1)อาหารรสเผ็ด เพราะยิ่งเผ็ดอุณหภูมิในร่างกายยิ่งร้อน คุณแม่จะยิ่งหงุดหงิดอาจส่งผลให้ร้อนในและลำไส้อักเสบได้
         2)อาหารหนัก ๆ ย่อยยาก แคลอรีสูง เช่น เค้ก พิซซ่า โดนัท น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำให้ร่างกายทำงานหนักและเป็นไขมันส่วนเกินในร่างกายอีก
         3)อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ไข่ดิบ เนื้อปลา ซูซิ สเต๊กบางอย่างหอยนางรม อาจจะมีสารพิษหรือเชื้อโรคตกค้างอยู่ แม่ท้องกินเข้าไปก็อาจติดเชื้อโรคและเป็นอันตรายได้
         4)นมและเนย ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
         5)ของหมักดอง ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย โซเดียมสูง
         6)น้ำชา กาแฟ ยิ่งดื่มมาก ร่างกายยิ่งต้องขับน้ำออกมามาก และปัญหาที่ตามมาคือคุณแม่อาจท้องผูกได้
         7)ถั่วลิสง ควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วลิสงระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจกระตุ้นให้ลูกเกิดมาเป็นโรคภูมิแพ้ได้
         8)ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์

8.ใกล้คลอด หลังคลอด เพิ่มน้ำนม
         เมื่อใกล้คลอด อาหารที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่คืออาหารที่มีรสร้อน เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้มีน้ำนมมากขึ้น ฉะนั้นช่วงนี้คุณแม่ควรกินอาหารที่เน้นน้ำนมเป็นหลัก ซึ่งสมุนไพรไทยหลาย ๆ อย่าง ก็มีสรรพคุณเป็นอาหารรสร้อน เช่น หัวปี ใบกะเพรา กุยช่าย กานพลู มะละกอ ฟักทอง ขิง และใบแมงลัก ซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน เหล็ก วิตามินซี โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น
         เมนูแนะนำคือ แกงเลียง ผัดกะเพรา ยำหัวปลี แกงป่าฟักทองผัดไข่ ฟักทองแกงบวด ไก่ผัดขิง ฯลฯ ที่อุดมไปด้วย แคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินซี เบต้า แคโรทีน ช่วยบำรุงเลือด และทำให้มีน้ำนมเยอ

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

คำนำหนังสือ การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

คำนำ

การสมรสหรือการอยู่ร่วมกัน เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีความสำคัญมาก ในอดีตคู่สมรสไม่ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการสมรส และภายหลังการตั้งครรภ์ มีอะไรบ้างที่ควรดูแลเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันคู่สมรสได้รับทราบความรู้ต่างๆมากขึ้น แต่ยังไม่ทราบทั้งหมด และไม่เข้าใจรายละเอียดเพียงพอ คู่สมรสจึงมีความต้องการความรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน และการตั้งครรภ์

หนังสือความรู้ก่อนสมรสนี้ ได้จัดทำโดยคณาจารย์หน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือเล่มนี้คงเป็นประโยชน์แก่คู่สมรสในการเตรียมตัวในการสร้างครอบครัวที่มีความสุขทั้งกายและใจเป็นอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงมานี ปิยะอนันต์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์ที่ช่วยกรุณาออกแบบปกหน้าปกหลัง และคุณณัฎฐณิชา ช่วงสันเทียะ ที่กรุณาช่วยงานจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
หัวหน้าหน่วยวิจัยอนามัยการเจริญพันธุ์และะงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-4194736-7

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส 2


รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การให้คำปรึกษา

1.ผลเลือด

>> กรุ๊ปเลือด   ถ้ากรุ๊ปเลือดฝ่ายหญิงเป็น Rh ลบ ถือว่า ผิกปกติ มารดาอาจถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ถ้าทารกในครรภ์แรกมีกรุ๊ป Rh บวก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในครรภ์ที่ 2 ถ้าทารกในครรภ์มีกรุ๊ป Rh บวก และภูมิต้านทานนี้จะผ่านไปทำลายเม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงจนทำให้ทารกหัวใจวายในครรภ์และเสียชีวิตได้
    การรักษา คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป Rh ในครรภ์แรก โดยการฉีดยาป้องกัน 2 ครั้ง คือ ขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน และ ภายหลังคลอดทันที

>> ชนิดของฮีโมโกบิน ถ้าผิดปกติทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องพิจารณาว่า บุตรมีโอกาสเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีโอกาสก็ต้องตรวจทารกในครรภ์ โดยการเจาะเลือดทารกหรือเนื้อรกมาตรวจวินิจฉัย

>>ผลไวรัสตับอักเสบ บี ถ้าพบว่า ฝ่ายใดมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยที่อีกฝ่ายไม่มีภูมิต้านทานก็ต้องฉีดวัคซีนตับอักเสบ บี ทั้งหมด 3 เข็ม ใช้เวลา 6 เดือน  และขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตับอักเสบ บี ทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 6 - 7 เดือน

>>ผลโรคซิฟิลิส ถ้าพบว่า เป็นโรคนี้ ก็ต้องให้การรักษาให้หายก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซิฟิลิสทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 3 เดือน

>>ผลโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ถ้าพบว่า มีเชื้อนี้ ไม่ต้องกลัวเสีบชีวิตเพราะปัจจุบันสามารถรักษาได้ดี และสามารถมีชีวิตได้เป็นปกติ แต่ต้องกินยาตลอดชีวิต และป้องกันไม่ให้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด

>>ผลภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ถ้าไม่มีภูมิต้านทานควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 1 เข็ม และไม่ควรตั้งครรภ์ภายหลังฉีด 3 เดือน


2.การคุมกำเนิด

คู่รักฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ถ้าอยากมีบุตรอาจไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหรือคุมในระยะสั้นๆส่วนคู่รักฝ่ายหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้คู่รักปรับตัวเข้าหากัน ถ้าทั้งคู่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน นอกจากนี้ให้คู่รักได้มีโอกาสใช้ชีวิตคู่ให้คุ้มค่า เพราะถ้าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ชีวิตคู่ก็จะหมดไป
วิธีการคุมกำเนิดที่แนะนำคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมที่มีฮอร์โมนต่ำ โดนเรื่อมยารอบระดูก่อนวันแต่งงาน 1 เดือน ในกรณีที่คู่รักจะมีประจำเดือนช่วงวันแต่ึ้งงานและช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ก็สามารถเลื่อนประจำเดือนได้โดยการให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อโดยไม่ต้องหยุด 7 วัน


3.เพศศึกษา

ในคู่ที่ไม่เคยมีเพศสัมพพันธ์มาก่อน แนะนำให้ซื้อหนังสือเพศศึกษาที่มีขายแพร่หลายมาศึกษา และเน้นให้ฝ่ายชาย ทราบว่า ฝ่ายหญิงควรมีความพร้อมก่อนที่ฝ่ายชายจะมีการร่วมเพศจริง .ซึ่งฝ่ายชายควรเล้าโลมฝ่ายหญิงอย่างน้อย 20-30 นาที นอกจากนี้ควรจะพูดเปิดเผยกันได้ในเรื่องเเพศสัมพันธ์ ส่วนในรายที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วก็สอบถามว่ามีปัญหาหรือไม่


4.การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ 

มีการแนะนำให้กินวิตามินโฟลิค ( folic acid ) ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และอีก 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท ( neural tube defects ) ซึ่งไม่ได้พบบ่อย


5.ปัญหาอื่นๆ

>>หญิงที่อาจมีลูกยาก ได้แก่ หญิงที่มีรอบประจำเดือนไม่ปกติ หรือมีประจำเดือนมาก และหญิงอายุมากกว่า 35 ปี รีบมาปรึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ
>>หญิงที่อาจเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หญิงที่ปวดประจำเดือนมากและราวไปทวารหนัก ถ้ามีปัญหาให้กลับมาปรึกษาใหม่



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7
# ในวัน - เวลาราชการเท่านั้นค่ะ #


วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

การตรวจสุขภาพก่อนสมรส

รศ.นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา
ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

การวางแผนครอบครัว นั้น มิใช่การวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว แต่มีการให้คำแนะนำในหลายๆด้าน แพทย์ที่ให้การดูแลอาจเป็นสูติ-นรีแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคู่รักที่มาปรึกษาก่อนสมรส บางคู่มีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว และบางคู่แต่งงานมาแล้ว แต่ต้องการตรวจก่อนปล่อยให้มีครรภ์ ซึ่งการดูแลก็ไม่แตกต่างกัน

วัตถุประสงค์
1.ตรวจสุขภาพทั่วไป
2.ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคซิฟิริส โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไวรัสตับอักเสบบี
3.ตรวจหาความเสี่ยงของโรคธาลัสซีเมีย (เลือดจางกรรมพันธุ์) ไปสู่บุตร
4.ป้องกันโรคหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์
5.ให้ความรู้ทางเพศศึกษาและค้นหาปัญหา
6.หาปัจจัยที่อาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์และต่อการตั้งครรภ์
7.แนะนำการปรับตัวในการมีชีวิตคู่

แผนการตรวจสุขภาพก่อนสมรสของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่การตรวจทางเลือดจะคล้ายเคียงกัน

การซักประวัติ
การซักประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น มีประโยชน์มากในการให้คำปรึกษา ยกเว้นคู่รักไม่ยอมเปิดเผยความจริง

การตรวจร่างกาย
ตรวจชีพจร ความดันโลหิต และตรวจร่างกายทั่วไปก็เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภายใน ยกเว้นคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์กันมานานแล้ว และยินยอมให้ตรวจ


การตรวจเลือด
ก่อนการเจาะเลือด ต้องให้คำปรึกษาสำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและต้องให้ลงนามในใบยินยอมที่จะบอกผลเลือดที่ผิดปกติต่อหน้าทั้ง 2 ฝ่าย ที่โรงพยาบาลศิริราชส่งตรวจหา
1.กรุ๊ปเลือด ABO และ Rh
2.ชนิดของฮีโมโกบิน ( Hemoglobin typing ) เพื่อตรวจโรคเลือดธาลัสซีเมีย
3.เชื้อไวรัสตับอักเสบ ( HBsAg ) และภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี ( HBsAb )
4.โรคซิฟิริส ( VDRL )
5.โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( Anti HIV )
6.ภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน ( Rubella Ig G )



หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์และงานวางแผนครอบครัว
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทรศัพท์ 02-4113011 02-4194736-7


ติดตามการตรวจสุขภาพก่อนสมรส  2 >>>>